แม้ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคในภาพรวมเดือนตุลาคม 2554 จะขยับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 4.19% (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากระดับ 4.03% ในเดือนกันยายน เนื่องจากแรงหนุนเงินเฟ้อบางส่วนถูกหักล้างลงโดยการลดต่ำลงของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้นตามที่คาด อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาผักสด (+15.24% MoM) และไข่ไก่และผลิตภัณฑ์นม (+0.69% MoM)
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า การเข้ามาดูแลความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า การควบคุมราคาสินค้าสำคัญในภาวะที่มีปัญหาอุทกภัย และการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน อาจมีส่วนช่วยชะลอการปรับขึ้นของราคาสินค้าในภาวะอุทกภัยได้พอสมควร อย่างไรก็ดี แม้ว่าระดับราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในกลุ่มที่สำรวจโดยกระทรวงพาณิชย์ อาจจะมีการปรับขึ้นไม่มากนัก แต่ในมิติของรายจ่ายรวมของประชาชน/ครัวเรือนนั้น คาดว่า รายจ่ายดังกล่าวได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าระดับปกติอันเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในยามฉุกเฉินเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะน้ำท่วม
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ยังน่าที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาอาหารสดซึ่งแหล่งผลิตเสียหายจากภาวะน้ำท่วม และของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่ยังมีปัญหาขาดแคลน และ/หรือขนส่งลำบากเนื่องจากเส้นทางถูกตัดขาด โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าที่จะมีค่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4.0% ใกล้เคียงกับระดับ 4.1% ในช่วงไตรมาส 3/2554 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงไตรมาส 3/2554 ที่ 2.8% ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มกรอบล่างของประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 เป็น 3.9-4.0% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.7-4.0% แต่ยังคงประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2554 ไว้ในกรอบเดิมที่ 2.3-2.6%
ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค น่าที่จะทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงต้นปี 2555 แต่กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงมุมมองต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในปีหน้าเช่นเดิมว่า ยังคงมีตัวแปรสำคัญหลายตัวที่รอหนุนทิศทางเงินเฟ้อ อาทิ การทยอยยกเลิกมาตรการบรรเทาค่าครองชีพ มาตรการตรึงราคาพลังงานบางประเภท และการปรับขึ้นค่าจ้างทั้งในส่วนของภาคเอกชนและรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 3.9% (เท่ากับตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2554)
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น