Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 พฤศจิกายน 2554

เศรษฐกิจไทย

การฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย และนโยบายเพิ่มรายได้ …หนุนเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตหนี้ยูโร ฟื้นตัวในปี 2555 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3208)

คะแนนเฉลี่ย

จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2554 ที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) [ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.6 และ Consensus Forecast คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5] ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ทั้งปีลงมาที่ร้อยละ 1.5 (YoY) จากคาดการณ์เดิมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยเป็นการปรับตามตัวเลขไตรมาสที่ 3/2554 ที่มีการรายงานออกมา ขณะที่ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2554 ในกรณีพื้นฐานไว้เช่นเดิม อยู่ที่หดตัวร้อยละ 3.3 อันเป็นผลมาจากกิจกรรมการผลิตและการดำเนินธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจที่สูญหายไปจากเหตุอุทกภัย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินความสูญเสียสุทธิต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 242,200 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1/2555 ก่อนที่จะเติบโตได้ชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 2/2555 โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคาดว่าจะมาจาก ภาคการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันอุทกภัยและการบริหารจัดการระบบน้ำ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการลงทุนที่เป็นผลมาจากอุทกภัยนี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 400,000-550,000 ล้านบาทในปี 2555 นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นของรัฐบาล ที่น่าจะมีส่วนกระตุ้นภาคการบริโภค และการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ซึ่งปัจจัยภายในประเทศดังกล่าวน่าที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยฝ่าความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มยูโรโซนที่ลุกลาม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 โดยมีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.8 อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรอบประมาณการดังกล่าวคำนึงถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเข้าไว้แล้วในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรปยังคงเป็นตัวแปรที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เนื่องจาก หากความเสี่ยงในภูมิภาคยูโรโซนลุกลามจนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของโลก อาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในระดับโลกครั้งใหม่ได้อีกครั้ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย