Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2554

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555…คาดขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.5-4.8 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3228)

คะแนนเฉลี่ย

สภาพแวดล้อมที่ได้รับแรงกดดันจากภาวะอุทกภัยครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2554 ส่งผลให้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 สะท้อนภาพการหดตัวที่กระจายออกไปเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วน นำโดย ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (-48.6% YoY ในเดือนพ.ย.) ผลผลิตสินค้าเกษตร (-7.2% YoY ในเดือนพ.ย.) การส่งออก (-13.1% YoY ในเดือนพ.ย.) และการใช้จ่ายในประเทศ (การบริโภค -1.6% YoY ขณะที่ การลงทุน -1.3% YoY ในเดือนพ.ย.) ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงทิศทางการหดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ไปได้ แม้ว่าภาวะน้ำท่วมที่คลี่คลายลงอาจช่วยพลิกฟื้นบรรยากาศการจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่กลับมาบางส่วนก็ตาม

ทั้งนี้ การที่จะพลิกเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าสู่เส้นทางการขยายตัวใหม่อีกครั้งในช่วงต้นปี 2555 คงต้องฝากความหวังไว้ที่แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเยียวยา-ฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย ตลอดจนนโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นของรัฐบาล และการชะลอการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธปท. น่าจะเป็นแรงสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบด้านลบต่อภาคการส่งออกของไทย ที่ต้องเผชิญแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของตลาดการเงิน ทั้งนี้ คาดว่า ภาคเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับความเสียหายในช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 น่าจะเริ่มทยอยฟื้นตัวกลับมาในช่วงไตรมาส 1/2555 ก่อนที่จะเติบโตในจังหวะที่มั่นคงมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 ท่ามกลางแรงกระตุ้นบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศจากนโยบายหลายด้านของรัฐบาล ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2555 อาจเป็นช่วงขาขึ้นของแนวโน้มรูปตัววี (V-Shaped) ซึ่งผ่านพ้นจุดต่ำสุดที่ไตรมาส 4/2554 มาแล้ว

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2555 อาจขยายตัวในอัตราที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.3 ในกรณีพื้นฐาน (มีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.8) จากที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5 ในปี 2554 อนึ่ง แม้กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ดังกล่าว ได้คำนึงถึงความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ในยุโรปไว้แล้วในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี หากพัฒนาการของเศรษฐกิจเลวร้ายลง ก็อาจทำให้เป็นการยากที่ไทยจะสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่ากรอบล่างของประมาณการไว้ได้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย