Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 มกราคม 2555

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวในช่วงไตรมาส 1/2555...หลังผลกระทบจากอุทกภัยคลี่คลายลง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3240)

คะแนนเฉลี่ย

ทิศทางเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยจากรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า สภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายจากผลกระทบอุทกภัยครั้งรุนแรงของไทยในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนธันวาคม 2554 ได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้วในช่วงก่อนสิ้นปี 2554 โดยที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภาคส่วน พลิกกลับมาขยายตัว/หดตัวในอัตราที่ลดลงสอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้นตัวจากที่ไถลลงอย่างต่อเนื่องในช่วงน้ำท่วม

- ผลผลิตกลับมาขยายตัวในเดือนธันวาคม 2554 ผลผลิตภาคเกษตร และผลผลิตอุตสาหกรรม พลิกกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 5.0 (MoM) และร้อยละ 37.9 (MoM) ตามลำดับ โดยปัญหาการขนส่ง-การจัดหาชิ้นส่วน/วัตถุดิบได้คลี่คลายลง พร้อมๆ กับการกลับมาทยอยเดินเครื่องผลิต ของโรงงานหลายแห่ง ขณะที่ การขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ช่วยชดเชยผลผลิตข้าวที่สูญเสียไปในช่วงอุทกภัย

- การใช้จ่ายภาคเอกชนทยอยฟื้นตัวขึ้นในเดือนธันวาคม 2554 การบริโภคขยายตัวร้อยละ 1.7 (MoM) หลังจากหดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนก่อน ส่วนการลงทุนนั้น หดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ร้อยละ 2.3 (MoM) โดยองค์ประกอบที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกลับสู่ภาวะปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด อาทิ ยอดจำหน่ายยานยนต์-เชื้อเพลิง การนำเข้าสินค้าทุน-สินค้าอุปโภคบริโภค ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม

- การส่งออกเดือนธันวาคม 2554 เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ที่ร้อยละ 12.5 (MoM) นำโดย สินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ส่วนในด้านการนำเข้านั้น ขยายตัวถึงร้อยละ 8.6 (MoM) นำโดย การนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงหลังน้ำท่วม ส่งผลทำให้ดุลการค้าของไทยเผชิญกับภาวะการขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีครึ่ง ที่ 237.9 ล้านดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัยต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ช่วยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 1,939.9 ล้านดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงหนุนจากใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูบูรณะความเสียหายจากภาวะอุทกภัยของภาครัฐ-ภาคเอกชน และในส่วนที่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายของรัฐบาล อาจช่วยชดเชยความอ่อนแอของภาคการส่งออก (ที่ได้รับแรงกดดันจากทิศทางการชะลอตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ) และภาวะการหดตัวต่อเนื่องของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ที่ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกลับสู่ระดับเต็มศักยภาพการผลิต) ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 ประมาณร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) หลังจากที่เผชิญกับภาวะหดตัวรุนแรงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย