Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 กุมภาพันธ์ 2555

เศรษฐกิจไทย

คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ จีดีพีทั้งปี 2555 อาจขยายตัว 4.5-6.0% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3249)

คะแนนเฉลี่ย

เครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงเดือนที่ผ่านมาของปี 2555 บ่งชี้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากเผชิญกับมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายมากเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ เศรษฐกิจโลกสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการในทางบวกของทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความพยายามของชาติยูโรโซนในแก้ไขวิกฤตหนี้ของกรีซ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2555 น่าจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12.5-13.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ, s.a.) ตามทิศทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเร่งระดับขึ้นได้ค่อนข้างเร็ว บวกกับกิจกรรมในการบูรณะซ่อมแซมความเสียหายของอาคาร สิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรต่างๆ เพื่อให้กลับมาดำเนินการผลิตได้เป็นปกติ อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวที่เทียบกับช่วงเดืยวกันของปีก่อนอาจยังอยู่ในระดับต่ำประมาณร้อยละ 1.0-1.5 (YoY) เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้า

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสถัดๆ ไป คาดว่า จะมีปัจจัยหนุนมาจากการทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต และเม็ดเงินจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ที่จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ด้วยฐานมูลค่าเศรษฐกิจที่ดิ่งลงรุนแรงในปี 2554 จะทำให้ตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เป็นร้อยละ 5.0 ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) โดยมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 4.5-6.0 (จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.3 ในกรณีพื้นฐาน และมีกรอบประมาณการอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5-4.8) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 2555 ยังคงอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาเรื้อรังของวิกฤตหนี้ยูโรโซน และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่กลับมาพุ่งสูงขึ้นจากปัญหาความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ตลอดจนปัจจัยความไม่แน่นอนภายในประเทศ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองและปัญหาอุทกภัย

นอกจากนี้ แม้การใช้จ่ายเพื่อการพลิกฟื้นประเทศหลังอุทกภัยจะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจระยะสั้นในปี 2555 นี้ แต่หากมองในระยะที่ไกลออกไป คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บทเรียนจากความสูญเสียมูลค่ามหาศาลจากภัยพิบัติอุทกภัยที่ผ่านมา ได้เข้ามามีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติที่อาจต้องหยิบยกประเด็นการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการกำหนดฐานที่ตั้งของการลงทุน

อนึ่ง นอกเหนือจากปัจจัยด้านอุทกภัยแล้ว เศรษฐกิจไทยในช่วงระยะข้างหน้า ยังอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เมื่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เริ่มสูงขึ้นกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และช่วงห่างของความแตกต่างด้านต้นทุนจะยิ่งกว้างมากขึ้นไปตามการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศจึงต้องมุ่งวางรากฐานรองรับการพัฒนาของภาคเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยที่ก้าวขึ้นไปอีกระดับของห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต บนพื้นฐานขององค์ความรู้และประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย