Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มีนาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ... ตัวเร่งไทยปรับตัวสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2279)

คะแนนเฉลี่ย

สืบเนื่องจากนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันที่จะมีผลบังคับใช้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และภูเก็ต เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน 2555 ส่วนอีก 70 จังหวัดที่เหลือจะปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 39.5 และเมื่อถึงวันที่ 1 มกราคม 2556 จะปรับขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศ จากนั้นจะคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่ 300 บาทไปอีก 2 ปี ยกเว้นกรณีภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการดังกล่าวในด้านหนึ่งจะเป็นผลดีต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทำให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ราคาสินค้าและบริการหลายประเภทคงทยอยปรับขึ้นในระยะต่อไป ตามต้นทุนของภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น โดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำนี้อาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2555 สูงขึ้นประมาณร้อยละ 0.6-0.7 (โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.9)

ขณะเดียวกัน ภายใต้กระบวนการปรับตัวของธุรกิจในการรับมือกับค่าจ้างที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการว่างงานของไทยในระยะสั้นอาจขยับขึ้นเล็กน้อย มาที่ระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.8 ในปี 2555 จากค่าเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ในปี 2554 ขณะที่แนวโน้มในระยะต่อๆ ไป คงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการลงทุนของประเทศเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ การรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยนับเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญสำหรับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เนื่องจากหลังจากการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว หากต้องการรักษาช่วงห่างของต้นทุนแรงงานของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้คงอยู่เท่าเดิม ก็หมายความว่าภาคธุรกิจไทยจะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในอัตราที่ใกล้เคียงกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ในช่วงที่ผ่านมา ผลิตภาพของแรงงานของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2-3 ต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นับจากนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญ โดยต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจะเป็นทั้งแรงกดดัน และเป็นเสมือนตัวเร่งให้ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที แต่ภาครัฐก็ควรเข้ามามีบทบาทในด้านการสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพด้านทรัพยามนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากธุรกิจผ่านพ้นจุดนี้ไปได้ก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ในขณะที่แนวโน้มค่าจ้างแรงงานในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าก็จะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะการจ้างงานในระยะต่อไป คือ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศ โดยไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านจ้างงาน การพัฒนาอุตสาหกรรม และโอกาสในการขยายศักยภาพการส่งออกของไทยต่อไปในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย