Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 มีนาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออกของไทย...กำลังเร่งการฟื้นตัว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3265)

คะแนนเฉลี่ย

เครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 สะท้อนภาพการฟื้นตัวขึ้นในระดับที่ดีกว่าที่คาด โดยในภาคอุตสาหกรรมนั้น สัญญาณเชิงบวกสะท้อนได้จากภาพรวมของการผลิตที่เร่งตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 9.0 (MoM, s.a.) และหดตัวในอัตราที่น้อยลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 (YoY) อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในระดับอุตสาหกรรมแล้ว ยังคงพบว่า สัญญาณการฟื้นตัวหลังน้ำลดในแต่ละอุตสาหกรรม ยังคงอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน โดยการผลิตยานยนต์ ให้ภาพการเร่งฟื้นสายการผลิตได้อย่างชัดเจน แตกต่างจากกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ยังคงต้องการเวลาในการฟื้นตัวอีกระยะ

ส่วนการส่งออกนั้น สะท้อนภาพการพลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.9 (YoY) และร้อยละ 3.2 (YoY) ในกรณีที่หักการส่งออกทองคำ ซึ่งนับเป็นการกลับเข้าสู่เส้นทางการขยายตัวที่เร็วกว่าที่ประเมินไว้ โดยอาจได้รับอานิสงส์จากสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีเสถียรภาพ (อย่างน้อยก็ในระยะสั้น) นำโดย สัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการทยอยฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทย หลังจากที่สามารถกลับมาผลิตได้ใกล้เคียงกับระดับปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2555 น่าที่จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งอาจสะท้อนสัญญาณดีขึ้นของห่วงโซ่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเอเชียหลังการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในไทยเริ่มฟื้นตัว) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มกำลังการผลิตที่ทำได้อย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่ สัญญาณเศรษฐกิจโลกยังไม่มีภาพในเชิงลบที่มีนัยสำคัญมากนักในระหว่างเดือน

อย่างไรก็ดี เมื่อประกอบภาพทิศทางที่ดีขึ้นของภาคการผลิต (อาจทำให้มีการทยอยนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนส่วนที่ได้รับผลกระทบในช่วงน้ำท่วมต่อเนื่อง) ตลอดจนการทยอยอ่อนค่าของเงินบาทและการทรงตัวในระดับสูงของราคาน้ำมันในตลาดโลกในระหว่างเดือนมีนาคม อาจทำให้สถานการณ์ดุลการค้าของไทยตามฐานตัวเลขกรมศุลกากร กระทรวงพาณิชย์ มีความอ่อนไหวค่อนข้างมากต่อภาวะขาดดุล แต่ถึงกระนั้น ในอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์ดังกล่าว ก็เป็นการตอกย้ำว่า ภาคการผลิต-การส่งออก และเศรษฐกิจไทยในภาพรวม อาจกำลังเตรียมกลับเข้าสู่เส้นทางการขยายตัวอีกครั้ง โดยหากประเมินเบื้องต้นจากข้อมูลล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกในไตรมาสที่ 1/2555 น่าที่จะลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 5.0 (YoY) และร้อยละ 0.5 (YoY) ตามลำดับ ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการหดตัวที่รุนแรงที่ร้อยละ 34.2 (YoY) และร้อยละ 4.8 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 4/2554 ที่ผ่านมา

เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า คาดว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยน่าที่จะยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากโมเมนตัมการฟื้นตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่จะทยอยเกิดขึ้นตามมาในระหว่างไตรมาสที่ 2/2555 ซึ่งก็จะยิ่งเพิ่มแรงหนุนต่อการขยายตัวของการส่งออกในช่วงกลางปี 2555 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงหลังจากนั้น อาจต้องเผชิญกับโจทย์ที่รอท้าทายในระยะที่เหลือของปี 2555 อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังคงยากจะหาจุดสิ้นสุด ตลอดจนทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ยังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งเส้นทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย