Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มีนาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์...สะท้อนการฟื้นตัวต่อเนื่องจากอุทกภัย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3266)

คะแนนเฉลี่ย

ครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบน้ำท่วม โดยการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 (YoY) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการปรับตัวดีขึ้นของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ยอดจำหน่ายยานยนต์ในประเทศ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 (YoY) นำโดย การขยายตัวของกลุ่มสินค้าทุน มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์

ทั้งนี้ การขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศดังกล่าว เป็นทิศทางเดียวกับการปรับสูงขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนในทุกมิติ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 75.5 ระดับ 100.9 และระดับ 52.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามปัจจัยที่อาจจะกดดันบรรยากาศเศรษฐกิจและมีผลต่อความมั่นใจของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคในระยะข้างหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งได้สะท้อนผ่านมาแล้วที่ดัชนีคาดการณ์ในระยะ 3 เดือนข้างหน้าของดัชนีความเชื่อมั่นทั้ง 3 ตัว

ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 (YoY) สอดคล้องกับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมมาอยู่ที่ร้อยละ 62.27 ในเดือนก.พ. ส่วนในด้านการส่งออกนั้น สามารถกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ที่ร้อยละ 1.2 (YoY) ตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนทุกกลุ่มสินค้า ส่งผลให้ไทยสามารถบันทึกดุลการค้าที่เกินดุลสูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 ประมาณร้อยละ 1.0 (YoY) จากการใช้จ่ายในประเทศทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังน้ำลด อย่างไรก็ตาม การหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออก ยังน่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1/2555

เมื่อมองต่อเนื่องไปในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2/2555 ด้วยภาพในเชิงบวกของเครื่องชี้เศรษฐกิจในทุกภาคส่วน โดยการใช้จ่ายในประเทศ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก น่าจะบันทึกอัตราการขยายตัวโดยพร้อมเพรียงกัน และน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีภาพการขยายตัวที่ชัดเจนกว่าช่วงไตรมาสที่ 1/2555 ก่อนจะเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ซึ่งจะมีสภาพแวดล้อมที่ท้าทายการเติบโตของเศรษฐกิจหลายประการ ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2555 ที่กรอบร้อยละ 4.5-6.0 โดยมีคาดการณ์กรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 5.0 โดยต้องติดตามประเด็นค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะมีแรงกดดันที่สูงขึ้น และทำให้ภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2555 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงร้อยละ 3.9 ใกล้ค่าเฉลี่ยในปี 2554

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย