Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 เมษายน 2555

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อยังมีแรงส่งผ่านในช่วงไตรมาส 2/2555 จากค่าจ้างและพลังงาน...และน่าจะเร่งตัวขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3268)

คะแนนเฉลี่ย

ถานการณ์ต้นทุนของผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันมากขึ้น จากทิศทางราคาพลังงานในประเทศ ราคาวัตถุดิบ ตลอดจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศร้อยละ 39.5 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวแปรที่อาจมีผลเพิ่มแรงกดดันสะสมต่อต้นทุนของผู้ผลิต พร้อมๆ กับเพิ่มแรงหนุนต่อราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 2/2555 ที่ไม่ควรมองข้ามไป ก็คือ สภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าในภาวะปกติ

ทั้งนี้ แม้ว่าหลายปัจจัย อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงานและวัตถุดิบ อาจส่งผลหนุนต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าผู้บริโภคให้ขยับสูงขึ้นในลักษณะเดือนต่อเดือนในระหว่างไตรมาสที่ 2/2555 อย่างไรก็ดี สำหรับในระยะสั้นที่กระบวนการส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภค ยังคงทำได้อย่างจำกัด รวมถึงยังมีผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้านั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 อาจชะลอลงจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.39 ในช่วงไตรมาส 1/2555 แต่ทิศทางที่ผ่อนคลายของเงินเฟ้อนี้ อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ก่อนที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อ มีน้ำหนักมากขึ้นต่อการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท.

สำหรับภาพรวมในปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงยืนตัวเลขประมาณการที่ร้อยละ 3.9 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และร้อยละ 3.0 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ตามเดิม โดยมองว่า ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากภาวะอุทกภัยรอบก่อน น่าจะมีผลในการเพิ่มแรงผลักดันด้านอุปสงค์ (Demand Pull) ต่อทิศทางเงินเฟ้อ พร้อมๆ กับแรงผลักด้านด้านอุปทาน (Cost Push) ที่นำโดย 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ การปรับสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และราคาพลังงาน ซึ่งจะทยอยส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงที่เหลือของปี 2555

ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 3.9 สำหรับปี 2555 นี้ ได้คำนึงถึงผลของการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีต่อเงินเฟ้อไว้ที่ประมาณร้อยละ 0.6-0.7 ภายใต้สมมติฐานราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบที่ระดับ 118 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี หากตลาดน้ำมันโลกอยู่ในภาวะตึงตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบขยับสูงเกินกว่า 130 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลแล้ว ก็มีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะพุ่งสูงกว่าร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.6 ซึ่งเป็นกรอบบนของประมาณการปี 2555 ตามลำดับ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย