Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 เมษายน 2555

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2555 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 จากแรงฉุดของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3280)

คะแนนเฉลี่ย

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม 2555 สะท้อนทิศทางการฟื้นตัวจากน้ำท่วมในช่วงปลายปีก่อนผ่านระดับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาที่ร้อยละ 68.07 ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเหตุการณ์อุทกภัย อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า การเร่งตัวขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นผลมาจากการฟื้นตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก ในขณะที่ อุตสาหกรรมอื่นที่ได้รับผลกระทบยังไม่สามารถเร่งการผลิตกลับมาได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เมื่อประกอบเข้ากับสถานการณ์ที่ยังคงมีแรงกดดันจากภายในและภายนอกประเทศ ทำให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกเดือนมีนาคม หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 3.17 (YoY) และร้อยละ 6.8 (YoY) ตามลำดับ

ขณะที่ การใช้จ่ายในประเทศและบรรยากาศความเชื่อมั่นโดยรวมในภาคเอกชน ยังคงได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมซ่อมแซม-ฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม และมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้ในภาพรวม ดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.7 (YoY) และร้อยละ 9.0 (YoY) ในเดือนมีนาคม ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตซึ่งปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี เริ่มส่งผลกระทบต่อโมเมนตัมการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน สะท้อนจากการลดระดับลงของการบริโภคและการลงทุนจากเดือนก่อนหน้า มาที่หดตัวลงร้อยละ 1.1 (MoM) และขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.2 (MoM)

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2555 นั้น ยังคงมีภาพที่ปะปนกันระหว่างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการเร่งฟื้นฟู-ซ่อมแซม-ทดแทนส่วนที่เสียหายจากผลกระทบน้ำท่วมปลายปี 2554 ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่หนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 4.1 (YoY) เทียบกับไตรมาส 4/2554 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 (YoY) และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.0 (YoY) พลิกจากที่หดตัวร้อยละ 3.7 (YoY) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า โมเมนตัมในเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนบางรายการที่เริ่มอ่อนแรงลงในช่วงท้ายไตรมาสแรก ได้สะท้อนภาพความอ่อนไหวต่อภาระค่าครองชีพซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ ต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวขึ้น ก็เพิ่มแรงกดดันต่อภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การฟื้นตัวกลับสู่สถานการณ์ปกติของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังต้องใช้เวลา ทำให้ภาคการผลิตและการส่งออก ยังไม่สามารถรักษาจังหวะการขยายตัวอย่างมั่นคงไว้ได้ ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับระดับการแข่งขันที่เข้มข้นจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทำให้ภาพรวมของการผลิตและการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1/2555 ยังคงอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ร้อยละ 7.1 (YoY) และร้อยละ 4.0 (YoY) แต่ก็มีความรุนแรงน้อยกว่าที่หดตัวร้อยละ 34.2 และร้อยละ 5.2 จากผลของอุทกภัยที่รุนแรงในช่วงไตรมาส 4/2554

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าภาคการใช้จ่ายในประทศที่ขยายตัวสูงจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในไตรมาส 1/2555 แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่มองไว้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงทำการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีประจำไตรมาส 1/2555 มาที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งน้อยกว่าประมาณการเดิมที่มองว่า อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 1.0 (YoY) อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า การฟื้นตัวของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่น่าจะกลับมาอย่างพร้อมเพรียงกันได้ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจช่วยหนุนให้ภาคการผลิตและภาคการส่งออกพลิกกลับมาบันทึกตัวเลขการเติบโตได้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 พร้อมๆ กับเครื่องชี้เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ แต่ก็คงต้องติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ภัยธรรมชาติ และทิศทางเศรษฐกิจโลก ที่จะมีผลต่อการประคองโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ต่อไป และสำหรับภาพรวมในปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยที่กรอบร้อยละ 4.5-6.0 (ค่ากลางร้อยละ 5.0) ไว้เช่นเดิม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย