Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤษภาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

แผนใช้จ่ายภาครัฐ ... นัยต่อเศรษฐกิจ และประเด็นด้านเสถียรภาพ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3290)

คะแนนเฉลี่ย

ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 วงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ในวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดและแปรญัตติ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีแผนการลงทุนทั้งในส่วนที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษ หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และในส่วนที่เป็นแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วงปี 2555-2559 เบื้องต้น 2.27 ล้านล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ อีกด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่ากระบวนการพิจารณาและอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2556 จะยังไม่สิ้นสุด อีกทั้งความคืบหน้าของแผนการลงทุนภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ และกรอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในช่วงปี 2555-2559 จะยังต้องรอติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนในระยะต่อไป แต่หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน การใช้จ่ายของรัฐบาลที่อาจมีวงเงินรวมกันจากทั้ง 3 ส่วนข้างต้นกว่า 2.8 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2556 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ตัวแปรด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลนี้ จะยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ต่อเนื่องจากปี 2555

อย่างไรก็ตาม ความต้องการเม็ดเงินจากภาครัฐ หากเป็นการกู้ยืมจากแหล่งเงินในประเทศ เมื่อประกอบกับความต้องการระดมเงินจากภาคเอกชน อาจส่งผลให้สภาพคล่องในระบบการเงินมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น ซึ่งเพื่อบรรเทาผลกระทบในส่วนนี้ คงจะต้องอาศัยการจัดลำดับและวางแผนจัดหาแหล่งเงินเพื่อดำเนินโครงการของภาครัฐที่ไม่หนาแน่นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และไม่กระชั้นชิดจนเกินไป ประกอบกับการดูแลสภาพคล่องในภาพรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งยังพอมีเครื่องมือในการบริหารจัดการได้

นอกจากนี้ ความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายเงินภายใต้งบประมาณขาดดุลและกฎหมายพิเศษ คาดว่าจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีสัดส่วนสูงกว่า 50% ของจีดีพีในปีงบประมาณ 2556 ซึ่งแม้จะยังนับว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และยังไม่ถึง 60% ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แต่ก็อาจจะเปิดประเด็นในด้านเสถียรภาพทางการคลังสำหรับในระยะกลางถึงยาวได้

งบประมาณ การใช้จ่ายภาครัฐ หนี้สาธารณะ government spending public debt

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย