Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 พฤษภาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.1-4.1 ในช่วงไตรมาส 2/2555...จากการใช้จ่ายในประเทศ หลังภาระค่าครองชีพบางส่วนผ่อนคลายลง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3293)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2555 ยังอยู่บนทิศทางของการฟื้นตัว นำโดย การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่พลิกกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.5 (MoM) โดยได้รับแรงเสริมเพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นตามลำดับ ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชน แม้จะเผชิญกับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การลงทุนเพื่อชดเชยในช่วงน้ำท่วม ก็ยังช่วยให้การขยายตัวของเครื่องชี้สำคัญเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 (MoM) จากเดือนก่อน ทั้งนี้ แม้การบริโภคภาคเอกชนในภาพรวม จะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่องค์ประกอบบางรายการก็สะท้อนถึงแรงกดดันจากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นสูง ทำให้ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 1.2 (MoM) ขณะที่ ในด้านการส่งออก แม้จะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.5 (YoY) แต่ก็ยังสะท้อนผลกระทบจากสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงที่ไม่เอื้อการกลับมาขยายตัวในแดนบวกเกิดขึ้นได้เร็ว

เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า คงไม่สามารถปฎิเสธว่า ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกอาจมีผลให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกล่าช้าออกไป แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินว่า ภาระค่าครองชีพประชาชนที่บรรเทาลงบางส่วน ตลอดจนมาตรการปรับเพิ่มรายได้ และความต้องการสินค้าคงทนบางประเภทที่กลับคืนมา จะช่วยหนุนให้ภาคการใช้จ่ายในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2/2555 โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่น่าจะเติบโตได้ราวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งย่อมจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2555 คงอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัว ด้วยอัตราการขยายตัวของจีดีพีประมาณร้อยละ 3.1-4.1 (YoY)

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะมีค่าเป็นบวกได้ในระดับที่สูงขึ้นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับอานิสงส์จากฐานมูลค่าเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 และแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่น่าจะมีแรงกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาสมทบ และ/หรือชดเชยการใช้จ่ายในส่วนของภาคเอกชนและการส่งออกที่อาจเผชิญสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมากขึ้นจากต้นทุนการผลิต สถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมทั้งช่วงเวลาการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เป็นแกนหลักอาจลากยาวออกไป ท่ามกลางบรรยากาศความเสี่ยงจากยุโรปและตะวันออกกลาง

จากภาพดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ภาคการใช้จ่ายในประเทศ จะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ภาคการส่งออกของไทย ก็ยังคงมีความเชื่อมโยงกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่ปกคลุมไปด้วยความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการส่งออกไปยังยูโรโซนโดยตรง จะลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แต่ผลกระทบทางอ้อมที่อาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ก็อาจเป็นสถานการณ์ที่เลี่ยงได้ยาก โดยอาจต้องจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด เพราะหากวิกฤตหนี้ยุโรปยังไม่ลดระดับความเสี่ยงลง ก็อาจทำให้ช่วงเวลาการฟื้นกลับของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงไตรมาส 3/2555 ต้องล่าช้าออกไป ซึ่งก็ย่อมจะมีผลต่อหลายอุตสาหกรรมของไทยที่มีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย