Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 กรกฎาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ขยับขึ้นเล็กน้อย...แนวโน้มครึ่งปีหลัง ยังต้องติดตามราคาน้ำมัน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3311)

คะแนนเฉลี่ย

ม้ทิศทางราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2555 ยังคงไล่ระดับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นำโดย การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะค่าโดยสาร ค่าตรวจรักษา/ค่ายา และค่าไฟฟ้า/เชื้อเพลิง/น้ำประปา/แสงสว่าง ซึ่งหักล้างทิศทางราคาในหมวดอาหารสด และหมวดพาหนะ/ขนส่ง/สื่อสารที่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันในประเทศที่ลดต่ำลงในกรอบประมาณร้อยละ 3-6 ในระหว่างเดือน ทั้งนี้ ราคาสินค้าผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นไม่มากนักจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมิถุนายน 2555 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.56 และร้อยละ 1.92 (YoY) ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.53 และร้อยละ 1.95 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.5 (กรอบร้อยละ 3.2-3.9) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.6 (กรอบร้อยละ 2.4-2.8) โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีโอกาสไล่ระดับขึ้นเข้าใกล้ร้อยละ 3.0 ในช่วงเดือนท้ายๆ ของปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ยังคงเป็นขาขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยทางเทคนิคเรื่องฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจุดสูงสุดของเงินเฟ้อในปี 2555 จะอยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นเวลาที่พ้นช่วงการขอความร่วมมือตรึงราคาสินค้าจากกระทรวงพาณิชย์ การตรึงราคาก๊าซ NGV/LPG ภาคขนส่ง ขณะที่ ต้นทุนการผลิตประเภทอื่นๆ อาทิ ค่าไฟฟ้า Ft รอบถัดไป ก็น่าจะถูกปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

แม้สถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปจะมีโอกาสยืดเยื้อปกคลุมบรรยากาศเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความแตกต่างระหว่างในช่วงครึ่งแรกกับครึ่งหลังของปี 2555 อยู่ที่ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงครึ่งหลังของปีที่อาจได้รับแรงหนุนในบางช่วง จากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันที่เป็นผลทางจิตวิทยาจากการที่มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2555 ซึ่งย่อมจะทำให้ตัวแปรจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง มีน้ำหนักมากขึ้นต่อทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก และในท้ายที่สุดก็จะมีผลเชื่อมโยงมาที่การพิจารณาเงื่อนเวลาในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศของไทย (ที่เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญต่อทิศทางเงินเฟ้อ)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย