Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 กรกฎาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2555 อาจขยายตัวร้อยละ 2.6...หลังการฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิตสะดุดลงจากผลกระทบวิกฤตหนี้ยุโรป (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3324)

คะแนนเฉลี่ย

าวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2555 มีทิศทางที่ปะปนจากสัญญาณลบของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม (หดตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 8.0 จากเดือนก่อนหน้า) ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป ขณะที่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนซบเซาลงจากระดับในเดือนก่อนหน้า (หดตัวร้อยละ 2.5 และขยับขึ้นเพียงร้อยละ 0.02 จากเดือนก่อนหน้า) หลังจากที่ได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องตามการเร่งตัวเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากภาวะอุทกภัย

แม้ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2555 จะไม่สามารถรักษาสัญญาณการฟื้นตัวได้อย่างมั่นคง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายตัว (YoY) อย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภายในประเทศตลอดทั้งไตรมาส 2/2555 น่าจะช่วยหนุนให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นมาขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสูงขึ้นกว่าร้อยละ 0.3 ในช่วงไตรมาสแรกของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระดับราคาสินค้าในระหว่างไตรมาส 2/2555 เข้าสู่ช่วงชะลอตัว พร้อมๆ กับการผลักดันมาตรการเพิ่มรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนตามโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยน่าจะมีปัจจัยบวกสำคัญจากฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน ที่จะทำให้การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาบันทึกอัตราการเติบโตได้อีกครั้ง ขณะที่ การใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน น่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยท่ามกลางสัญญาณผันผวนของเศรษฐกิจต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมทั้งปี 2555 นั้น เนื่องจากสัญญาณลบของเศรษฐกิจโลก (จากวิกฤตหนี้ยุโรป รวมถึงความกังวลต่อการประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และสหรัฐฯ) ที่ชะลอการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2555 มาที่ร้อยละ 4.5-5.5 จากกรอบเดิมที่ร้อยละ 4.5-6.0

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย