Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 สิงหาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

แม้เงินเฟ้อเดือนก.ค. สูงกว่าคาด...แต่ยังต้องติดตามเศรษฐกิจโลก และราคาพลังงาน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3325)

คะแนนเฉลี่ย

ม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2555 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.73 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาที่ร้อยละ 1.87 (YoY) ก็อาจเป็นสถานการณ์ที่สะท้อนว่า แรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ยังคงมีความกังวลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง (ที่อาจไม่ราบรื่นท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน) ขณะที่ การตรึงราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคของผู้ประกอบการ และเครื่องมือในการดูแลทิศทางราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาล ก็ยังคงคาบเกี่ยวในช่วงเวลาครึ่งหลังของปี 2555

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แนวทางการบริหารจัดการทิศทางราคาพลังงานในประเทศของรัฐบาล ทั้งในส่วนที่ผ่อนปรนเงื่อนเวลาการปรับโครงสร้างราคาพลังงานหลายประเภท และการต่ออายุการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้กลไกการส่งผ่านต้นทุนด้านพลังงานไม่สร้างแรงกดดันต่อทิศทางราคาสินค้าของผู้บริโภคมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรป และความกังวลต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ยังคงกดดันความเคลื่อนไหวของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันไม่ให้มีลักษณะการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง

ดังนั้น แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะยังคงประเมินว่า ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 จะสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก แต่ความกังวลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง (ที่อาจไม่ราบรื่นท่ามกลางผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน) รวมถึงมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาล และการตรึงราคาสินค้าของผู้ประกอบการ ที่กินเวลาคาบเกี่ยวไปถึงช่วงไตรมาสที่ 3/2555 น่าจะเป็นปัจจัยที่ผ่อนแรงกดดันเงินเฟ้อไปได้บางส่วน และอาจทำให้มีความเป็นไปได้ที่ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อในปี 2555 จะลดต่ำลงกว่าร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย