Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 สิงหาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนก.ค. 2555...การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3339)

คะแนนเฉลี่ย

ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค. 2555 สะท้อนภาพด้านบวกจากการบริโภค (+7.0% YoY ในเดือนก.ค. เพิ่มจาก +4.4% YoY ในเดือนมิ.ย.) และการลงทุนภาคเอกชน (+19.5% YoY ในเดือนก.ค. เพิ่มจาก +19.0% YoY ในเดือนมิ.ย.) ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงสนับสนุนของมาตรการรัฐบาล พร้อมๆ กับภาพด้านลบของจังหวะการฟื้นตัวที่หยุดนิ่งของการส่งออก (-3.9% YoY ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจาก -2.3% YoY ในเดือนมิ.ย.) และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (-5.8% YoY ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจาก -9.6% YoY ในเดือนมิ.ย.)ท่ามกลางความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศที่เป็นแกนสำคัญของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งของภาคการส่งออกของไทย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่วัดจากจีดีพีที่ปรับฤดูกาลในช่วงไตรมาส 3/2555 อาจอยู่ในระดับที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2555 ซึ่งเป็นภาพที่บ่งชี้ถึงจังหวะที่ค่อนข้างนิ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศเริ่มผ่อนคลายลง ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงภาพความซบเซาจากวิกฤตหนี้ยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไว้ พร้อมกับการแพร่กระจายความเสี่ยงไปยังเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค ทำให้สัญญาณที่ชัดเจนของของการกลับสู่เส้นทางการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย ต้องเลื่อนเวลาออกไปเป็นช่วงท้ายๆ ไตรมาสที่ 3/2555 แม้ว่าการพลิกฟื้นกำลังการผลิตในภาคโรงงานจากผลกระทบน้ำท่วมจะมีความคืบหน้าไปมากแล้วก็ตาม และเมื่อรวมเข้ากับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ระดับราคาพลังงานในประเทศบางประเภทที่เริ่มขยับขึ้น และฐานการคำนวณเปรียบเทียบที่ไล่ระดับสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2554 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีในช่วงไตรมาสที่ 3/2555 อาจอยู่ในระดับที่ไม่เกินร้อยละ 4.0 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.2 (YoY) ในไตรมาสที่ 2/2555 ที่ผ่านมา โดยไตรมาสที่ 3/2555 นี้ น่าจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกที่ต้องรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซนที่กระจายตัวและเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย