Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 ตุลาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

เงินคงคลัง...หนึ่งในกลไกบริหารสภาพคล่องของรัฐ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3361)

คะแนนเฉลี่ย

เงินคงคลัง คือ เงินสดหรือสิ่งใกล้เคียงเงินสดที่รัฐบาลมีไว้เพื่อการใช้จ่ายในการดำเนินงานของรัฐ โดยเป็นเงินรายรับที่เหลือจากการใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลเก็บสะสมไว้ในแต่ละขณะ ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้เงินคงคลังเปลี่ยนแปลง คือ การจัดเก็บรายได้ การเบิกใช้รายจ่าย และการนำเงินคงคลังมาใช้

เงินคงคลัง นับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการสภาพคล่องของรัฐบาล นอกเหนือไปจากการกู้เงินทั้งด้วยการออกตั๋วเงินคลังและการออกพันธบัตรของรัฐบาล ทั้งนี้ แม้เงินคงคลังจะไม่ใช่กลไกด้านนโยบายหลักที่ขับเคลื่อนการใช้จ่ายของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่การมีเงินคงคลังในระดับที่เพียงพอ ก็ย่อมสร้างเสริมความมั่นใจได้ว่ารัฐบาลยังมีเครื่องมือไว้ดูแลในกรณีที่มีเหตุการณ์จำเป็นเร่งด่วนให้ต้องใช้จ่ายเงิน อันรวมถึงความสามารถในการหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหน่วยงานภาครัฐ

เป็นที่คาดว่า เงินคงคลังของไทยอาจจบสิ้นปีงบประมาณ 2555 นี้ด้วยระดับใกล้เคียง 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 20-21 ของรายจ่ายรวม เทียบกับล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2555 ที่เงินคงคลังอยู่ที่ราว 4.64 แสนล้านบาท โดยเงินคงคลังมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงกว่า 10 ปีงบประมาณก่อนหน้า หรือในช่วงปีงบประมาณ 2543-2554 ที่ระดับเงินคงคลังเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท และสัดส่วนต่อรายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13.3 อันน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี การสำรองเงินในมือไว้ของรัฐบาลเพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก กระบวนการจัดทำและเบิกใช้งบประมาณที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากปัญหาการเมืองในประเทศ ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่มักทำได้ตามเป้าหรือเกินเป้าหมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังที่ค่อนข้างมั่นคงและเพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการเงินคงคลังในเกณฑ์ที่ดีของรัฐบาลท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรทางเศรษฐกิจและหลากหลายปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองในประเทศ และเหตุอุทกภัย เป็นต้น

สำหรับประเด็นการบริหารจัดการเงินคงคลังที่รัฐบาลมีแนวคิดจะจัดสรรเงินคงคลังบางส่วนไปแสวงหาผลตอบแทนที่มากขึ้นนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า คงขึ้นอยู่กับรายละเอียดของตัวบทกฎหมายและดุลพินิจของรัฐบาล ขณะที่ รัฐบาลคงจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนสุทธิที่คาดว่าจะได้รับกลับมาจากการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นไปในอัตราที่สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนในตลาดเงิน กับประเด็นทางด้านสภาพคล่องและความเสี่ยง หรือความจำเป็นในการถือสภาพคล่องเพื่อบริหารรายจ่ายในแต่ละช่วงเวลาซึ่งอาจจะผันแปรตามสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นๆ ด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย