นโยบายด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศยังคงเป็นตัวชี้ชะตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 นี้ ระหว่างประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายบารัก โอบามา ตัวแทนจาก ;พรรคเดโมแครต” ผู้มีแนวคิดจาก ;สายพิราบ” และนายมิตต์ รอมนีย์ ตัวแทนจาก ;พรรครีพับลิกัน” ผู้มีจุดยืนจาก ;สายเหยี่ยว” ทุนนิยมเสรีสุดขั้วและแข็งกร้าว โดยผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีคะแนนที่ค่อนข้างสูสีมากในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2012
คู่ชิงประธานาธิบดีแม้จะมีความแตกต่างกันในการดำเนินกลยุทธ์บริหารประเทศ แต่ทั้ง 2 ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในช่วงหลังการเข้าบริหารประเทศ คือ การนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากความเสี่ยงเฉพาะหน้าจากปัญหา Fiscal Cliff และการปรับเพิ่มเพดานการก่อหนี้ กระตุ้นการจ้างงานสำหรับชาวอเมริกัน พร้อมๆ กับรักษาสถานะการเป็นชาติมหาอำนาจของสหรัฐฯ ในประชาคมโลก โดยอาจส่งผลต่อภาพการค้าและเศรษฐกิจไทย ดังนี้
ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองมีวิสัยทัศน์เดียวกันในมุมมองทางการค้าเพื่อหนุนการสร้างจุดยืนในเวทีโลก ท่ามกลางภาพแข็งแกร่งจากจีนที่อาจบดบังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายในอีกราว 2 ทศวรรษข้างหน้า จึงเป็นตัวเร่งให้สหรัฐฯ หากลยุทธ์นำพาประเทศเข้าสู่เอเชีย ผ่านกรอบการค้าทั้งในรูปแบบพหุภาคี/ทวิภาคีกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มองว่าการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีนอาจเป็ภัยคุกคามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีหลังการเลือกตั้งจะยังคงกดดันจีนด้วยมาตรการต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงินหยวน หรือการตั้งกำแพงภาษีการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทำให้ในระยะต่อไปบรรยากาศการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนก็น่าจะยังคุกรุ่นอยู่ ซึ่งในกรณีของรอมนีย์อาจมีความตึงเครียดที่สูงกว่าโอบามา แม้ไม่กระทบต่อการค้ากับไทยโดยตรงแต่ก็อาจส่งผลทางอ้อมต่อท่าทีของไทยในการดำเนินยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับทั้งสองประเทศ ซึ่งไทยจำเป็นต้องตระหนักอย่างมากในการรักษาความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะจีนที่เป็นผู้ประคองเศรษฐกิจการค้าของไทยในขณะนี้ หรือสหรัฐฯคู่ค้าที่แนบแน่นในภูมิภาคตะวันตกมาช้านาน
นอกจากนี้ ท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะคงเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตหนี้ของยุโรป ความสามารถในการประคองโมเมนตัมของเศรษฐกิจจีน และเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ที่มีความสำคัญไม่น้อย ประกอบภาพเข้ามาด้วย
ü ผลกระทบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจไทย จะเชื่อมโยงเข้ากับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สหรัฐฯ น่าจะไม่เผชิญกับภาวะ Fiscal Cliff เต็มรูปแบบในปี 2556 ไม่ว่าชัยชนะจากศึกเลือกตั้งจะเป็นของโอบามาหรือรอมนีย์ ดังนั้น ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2556 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 4.5-5.5 น่าจะยังเหมาะสมและสามารถรองรับสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้
ü ผลกระทบในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากมองภาพที่ไกลขึ้นหลังปี 2556 ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเป็นเป็นสมัยที่ 2 ของนายโอบามา หรือสมัยแรกของนายรอมนีย์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ก็น่าจะต้องรับมือกับ ;โจทย์รักษาเสถียรภาพการคลังในระยะยาวของสหรัฐฯ” ที่ไม่แตกต่างกัน โดยมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ ยังคงต้องแบกหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วงหลายปีข้างหน้า ดังนั้น สำหรับไทยแล้ว โจทย์ในระยะยาวที่ทางการและภาคธุรกิจไทยจะต้องคำนึงถึงและผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็คือ การมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่น่าจะเสริมสร้างอานิสงส์ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น