Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 พฤศจิกายน 2555

เศรษฐกิจไทย

จีดีพีไตรมาส 3/2555 ได้แรงหนุนจากในประเทศ ...แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 ขยายตัว 5.0% (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3379)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 3/2555 ที่รายงานโดยสศช. สะท้อนว่า การขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล มีส่วนสำคัญที่ช่วยหักล้างภาพการหดตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงระหว่างไตรมาสไว้บางส่วน ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 3/2555 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) แม้ว่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับตัวเลขทบทวนใหม่ในไตรมาสที่ 2/2555 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.4 (YoY)

ทั้งนี้ อานิสงส์จากการใช้จ่ายในประเทศช่วยบรรเทาภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยการบริโภค-การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ มีบทบาทสำคัญที่ช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่เอื้อต่อบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ อาทิ ระดับรายได้ที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน มาตรการภาครัฐที่มีส่วนผลักดันการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนบางประเภท (เช่น รถยนต์) รวมถึงการฟื้นฟูผลกระทบน้ำท่วมซึ่งเข้าสู่ช่วงการเพิ่มเติม/ติดตั้งเครื่องจักร ขณะที่ รายจ่ายของรัฐบาล ทั้งในส่วนของการอุปโภคและการลงทุน ก็ขยายตัวในอัตราเร่งมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2555 อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมในต่างประเทศ ที่ปรากฏภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาค ก็มีส่วนทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกของไทย และระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะสินค้าเกษตร) ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่เอื้อต่อการกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย และย่อมมีผลต่อเนื่องไปที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมอีกต่อหนึ่งด้วยเช่นกัน

สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทย น่าจะเร่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงไตรมาส 4/2554 ที่ถูกกระทบโดยเหตุการณ์น้ำท่วม โดยตัวเลขจีดีพีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 อาจขยายตัวในระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 12.5 (YoY) ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ภายใต้สมมติฐานที่ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 110 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 น่าจะเติบโตอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 4.5-5.5 (กรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 5.0) ซึ่งเป็นการรักษาระดับอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับในปี 2555 นี้ แต่จะมีภาพแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เน้นการขยายตัวของกิจกรรมการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของเม็ดเงินสะพัดที่มาจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เป็นสำคัญ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย