Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 ธันวาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2556 อาจเร่งขึ้นมาที่ 3.0-3.6% จาก 3.0% ในปี 2555 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3388)

คะแนนเฉลี่ย

ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อไทยล่าสุดในเดือนพ.ย.2555 สะท้อนภาพการชะลอลงของแรงกดดันเงินเฟ้อที่เหนือความคาดหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย. 2555 อยู่ที่ร้อยละ 2.74 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือน และขยับลงจากร้อยละ 3.32 (YoY) ในเดือนต.ค. โดย ระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.35 (MoM) นำโดย ราคาผักสดและผลไม้สดที่ลดลงร้อยละ 13.43 (MoM) และร้อยละ 4.6 (MoM) ตามลำดับ เนื่องจากพ้นช่วงเทศกาลกินเจ และปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงนี้ ขณะที่ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ก็มีส่วนช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านต้นทุนและภาระค่าครองชีพของภาคครัวเรือนไว้บางส่วน

ทั้งนี้ เมื่อหักผลของการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยในเดือนพ.ย. 2555 ไล่ระดับขึ้นไปที่ร้อยละ 1.85 (YoY) จากร้อยละ 1.83 (YoY) ในเดือนต.ค. โดยระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานค่อนข้างทรงตัว ซึ่งก็สอดคล้องกับการส่งสัญญาณตรึงราคาสินค้าไว้จนถึงสิ้นปีของผู้ประกอบการหลายแห่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางเงินเฟ้อของไทยน่าจะขยับสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2556 ท่ามกลางหลายบททดสอบในการบริหารจัดการด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก้าวกระโดดครั้งสำคัญของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย และการเริ่มทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานภายในประเทศ ขณะที่ แรงผลักดันเงินเฟ้อจากตัวแปรทางด้านอุปสงค์ น่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็เป็นภาพที่สอดรับกับทิศทางการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลจากปัจจัยหนุนเงินเฟ้อในช่วงต้นปี 2556 น่าจะทยอยผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่กระนั้นภาพรวมของเงินเฟ้อในปี 2556 ก็ยังน่าจะมีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นมาที่ร้อยละ 3.0-3.6 เทียบกับที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0 ในปี 2555

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย