Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ธันวาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศต้นปี 2556...ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3394)

คะแนนเฉลี่ย

ในวันที่ 20 พ.ย. 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบประกาศของคณะกรรมการค่าจ้างในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 70 จังหวัดเป็น 300 บาท/วัน ภายหลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปแล้วใน 7 จังหวัดนำร่องเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา และจะคงไว้ที่ระดับนี้ไปอีก 2 ปี ยกเว้นกรณีที่เศรษฐกิจไทยมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ จะช่วยให้แรงงานราวร้อยละ 70.0 ของแรงงานฐานค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของจีดีพีในปี 2556 อย่างไรก็ดี แรงหนุนจากการขึ้นค่าแรงที่จะส่งผ่านการบริโภคภาคเอกชนมายังจีดีพีก็อาจอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดังกล่าวเนื่องจากถูกลดทอนโดยหลายปัจจัย ขณะที่ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าราวร้อยละ 0.4 ส่วนผลกระทบต่อระดับการจ้างงานนั้น จากแนวโน้มของตลาดแรงงานไทยที่อยู่ในภาวะค่อนข้างตึงตัว รวมทั้งหลายธุรกิจยังคงมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะทำให้การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานในระยะสั้นน่าจะยังไม่เข้าสู่ระดับที่เป็นอันตราย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ว่างงานในปี 2556 จะอยู่ที่ 3.0 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ 2.6-3.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7-0.9)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทุกภาคส่วนธุรกิจกคงไม่สามารถหลีกหนีจากผลกระทบที่เกิดจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไปได้ แต่ระดับผลกระทบจะรุนแรงเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ พื้นที่ตั้งกิจการ ขนาดและประเภทธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวที่ดี ซึ่งเมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังเอื้อต่อการเติบโตของภาคธุรกิจ ก็น่าจะช่วยให้ธุรกิจไทยในภาพรวมยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีโจทย์ท้าทายอื่นๆ ที่ต้องเร่งหาหนทางแก้ไขและเตรียมพร้อมบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า อาทิ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานจากอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานมาสู่อุตสาหกรรมที่พึ่งพาเทคโนโลยี การปรับปรุงขั้นตอนและมาตรฐานของการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว รวมถึงการเตรียมพร้อมเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวที่อาจไหลกลับประเทศภายหลังเปิดเสรี AEC ในปี 2558 ซึ่งคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การแก้ปัญหาดังกล่าวมีทิศทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้ภาคแรงงานของไทยปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่รูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศได้ในระยะต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย