Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2555

เศรษฐกิจไทย

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีมะเส็ง : การส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐช่วยประคองการเติบโต (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3398)

คะแนนเฉลี่ย

ม้บรรยากาศในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2555 จะสะท้อนภาพที่ปะปนกันระหว่างความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ (ซึ่ง ณ วันที่ 28 ธ.ค. 2555 ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของปี สภาคองเกรสและทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในแนวทางการเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายได้) และวิกฤตหนี้ยูโรโซน (ที่แม้สถานการณ์จะเริ่มนิ่งแต่ยังคงมีความเสี่ยงรออยู่) ซึ่งเป็นทิศทางที่ตรงกันข้ามกับสัญญาณที่แข็งแกร่งของการใช้จ่ายภายในประเทศที่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ได้รับอานิสงส์อย่างต่อเนื่องจากมาตรการรัฐบาลและกระบวนการเร่งลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายช่วงอุทกภัย

ทั้งนี้ กิจกรรม/เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างโดดเด่นในช่วงระหว่างเดือนต.ค.-พ.ย. 2555 (ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 4/2555) คงหนีไม่พ้น ยอดขายยานยนต์ในประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีผลช่วยหนุนสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว ยังช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าทุน/เครื่องจักร ยอดขายปูนซิเมนต์ รวมถึงเครื่องชี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงรักษาทิศทางการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นส่วนที่สะท้อนว่า อุปสงค์ภายในประเทศของไทย ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนทิศทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่ สัญญาณแรกเริ่มของแนวโน้มเชิงบวกในประเทศคู่ค้าหลักของไทย ก็ช่วยเพิ่มแรงส่งให้การกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหารกระป๋อง/แปรรูป มีภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แรงขับเคลื่อนภายในประเทศที่ยังรักษาทิศทางการเติบโตได้ในเกณฑ์ดี และฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้สูงถึงประมาณร้อยละ 13.0 (YoY) ในไตรมาส 4/2555 และหนุนให้ภาพรวมของทั้งปี 2555 ขยายตัวได้ในระดับประมาณร้อยละ 5.0 สำหรับแนวโน้มในปี 2556 นั้น หากเศรษฐกิจโลกสามารถผ่านพ้นช่วงรอยต่อที่น่าอึดอัดท่ามกลางความกังวลต่อแรงฉุดครั้งใหญ่ของปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ ในช่วงข้ามปี 2555 และเข้าสู่ปี 2556 ด้วยสถานการณ์ที่ไม่พลิกผันจนกระทบแนวโน้มทั้งปี 2556 แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกจะกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการช่วยประคองทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ให้สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แม้ว่าการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จะผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว หลังปัจจัยเร่งพิเศษหลายปัจจัยได้สิ้นสุดลงในปี 2555

สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2556 ที่น่าจะประคองตัวได้ต่อเนื่องนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ที่ร้อยละ 4.5-5.5 (ค่ากลางที่ร้อยละ 5.0) ยังคงเป็นระดับที่สมเหตุสมผล แต่ยังคงต้องระวังปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจ ทิศทางราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และความชัดเจนของเม็ดเงินในส่วนของการลงทุนภาครัฐ รวมถึงแรงกดดันของต้นทุนการผลิต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย