สัญญาณจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดเดือนธ.ค. 2555 ยังคงภาพเดิม ซึ่งมีการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นตัวนำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกช่วงรอยต่อปี 2555 และ 2556 ที่ยังมีทิศทางที่ไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่พลิกผันของหลายเหตุการณ์ กดดันให้กิจกรรมในภาคการผลิตและการส่งออกเดือนธ.ค. 2555 ชะลอลงจากระดับในเดือนพ.ย. 2555 ซึ่งทำให้โมเมนตัมการฟื้นตัวในช่วงเริ่มแรกเป็นไปอย่างช้าๆ แม้จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดมาแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดประกอบด้วย
-
การชะลอตัวของคำสั่งซื้อในต่างประเทศส่งผลต่อเนื่องให้ระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก ของไทยในเดือนธ.ค. 2555 ลดต่ำลงจากระดับในเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 5.0 (MoM) และร้อยละ 2.4 (MoM) พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 (MoM) และร้อยละ 6.7 (MoM) ในเดือนพ.ย. 2555 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2556 หลังสหรัฐฯ สามารถแก้โจทย์หน้าผาทางการคลังยกแรกไปได้ และสัญญาณจากเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยยังคงมีทิศทางที่สดใส
-
การส่งออกที่ชะลอลงในเดือนธ.ค. 2555 ส่งผลทำให้ไทยเกินดุลการค้าลดลง มาอยู่ที่ 0.3 พันล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับ 0.6 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ย. 2555 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์ที่อ่อนแอของดุลการค้าไทยจะเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของการส่งออกอาจมีทิศทางที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่ผู้ส่งออกอาจต้องรับมือกับแรงกดดันจากต้นทุนและค่าเงินไปพร้อมๆ กัน
แม้เครื่องชี้ล่าสุดในเดือนธ.ค. 2555 จะยังคงภาพว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มชะลอลง ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยยังต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวที่เข้มแข็งขึ้นจากภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี หากมองภาพรวมทั้งไตรมาสที่ 4/2555 (โดยเฉพาะในเดือนพ.ย. 2555) ที่แข็งแกร่งค่อนข้างมากจากอานิสงส์ของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงอุทกภัยปี 2554 รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับการสะสมสต็อกในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 4/2555 มีโอกาสเติบโตในอัตราที่สูงกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อย มาที่ร้อยละ 14.0 (YoY) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2555 อาจขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 สูงขึ้นจากประมาณการเดิมร้อยละ 5.0 เล็กน้อย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น