Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กุมภาพันธ์ 2556

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อเดือนม.ค. 56 ชะลอลง: แต่ยังคงมีปัจจัยผลักดันทิศทางราคาในช่วงหลายเดือนข้างหน้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3408)

คะแนนเฉลี่ย

ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยล่าสุดในเดือนม.ค. 2556 ออกมาสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.39 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำลงจากร้อยละ 3.63 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี (นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2554) ที่ร้อยละ 1.59 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556 จากร้อยละ 1.78 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 ทั้งนี้ หากเทียบกับในเดือนก่อนหน้า ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.16 (MoM) ซึ่งสะท้อนภาพที่ปะปนกันของทิศทางราคาสินค้าในช่วงเดือนที่ถูกคาดหมายว่า จะมีแรงกดดันต่อต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ การปรับค่าไฟฟ้า Ft และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนข้างหน้านั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยยังคงมีโอกาสปรับสูงขึ้น (MoM) ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าตามแรงผลักดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี จากทิศทางเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนม.ค. 2556 ที่ยังคงสอดคล้องกับประมาณการ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2556 ที่ร้อยละ 3.3 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 3.0-3.6) และร้อยละ 2.4 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.2-2.8) ยังคงมีความเหมาะสม โดยคาดว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะมีลักษณะทยอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐยังคงมีมาตรการติดตามดูแลราคาสินค้า และยังสามารถยืดหยุ่นกรอบเวลาในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และอุดหนุน/ชดเชยราคาขายปลีกพลังงานในประเทศผ่านกลไกของกองทุนน้ำมันฯ ต่อไป หากตัวแปรนอกเหนือการควบคุมอื่นๆ ส่งผลเพิ่มแรงกดดันต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย