Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กุมภาพันธ์ 2556

เศรษฐกิจไทย

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยม.ค. 2556 ผสมผสานแรงขับเคลื่อนในประเทศ และการส่งออก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3414)

คะแนนเฉลี่ย
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดเดือนม.ค. 2556 ยังคงขยายตัวตามที่คาดไว้ โดยมีทิศทางที่ผสมผสานระหว่างแรงขับเคลื่อนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของการส่งออก ที่ทยอยเกิดขึ้นท่ามกลางความเปราะบางของเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปี 2556
  • การใช้จ่ายในประเทศยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้รายจ่ายบางรายการจะไม่เร่งสูงเท่ากับในช่วงหลายเดือนก่อน โดยเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงต้นปี 2556 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใช้จังหวะนี้ขยายการลงทุน ขณะที่ ระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น การทยอยส่งมอบรถภายใต้โครงการรถคันแรก ตลอดจนความต่อเนื่องของรายจ่ายของภาครัฐ ท่ามกลางโมเมนตัมการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ก็ช่วยหนุนให้บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.8 YoY และร้อยละ 22.0 YoY ในเดือนม.ค. 2556 ตามลำดับ

  • การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงต้นปี ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.1 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556 ชะลอลงจากร้อยละ 23.0 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 โดยในส่วนของการผลิตเพื่อขายในประเทศ และการผลิตเพื่อขายในต่างประเทศ ขยายตัวเท่ากันรายการละร้อยละ 2.2 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 (YoY) และร้อยละ 25.5 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ การผลิตที่เน้นขายทั้ง 2 ตลาด ขยายตัวร้อยละ 40.1 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 58.5 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555

  • ภาวะดุลการค้าขาดดุลอาจเป็นสถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะแม้ภาคการส่งออกของไทยในเดือนม.ค. 2556 จะมีทิศทางเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากปี 2555 (ขยายตัวร้อยละ 15.6 YoY ในเดือนม.ค.2556 จากร้อยละ 13.6 YoY ในเดือนธ.ค.2555) แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางสัญญาณเสถียรภาพที่แฝงไว้ด้วยความไม่แน่นอนอีกหลายประเด็นของเศรษฐกิจโลก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนม.ค. 2556 ยังคงสะท้อนโมเมนตัมการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการส่งออกเริ่มมีภาพการฟื้นตัวขึ้นจากปี 2555 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสัญญาณอ่อนแอของดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจจะมีความต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
สำหรับในไตรมาส1/2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้เสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง แต่แรงส่งของโมเมนตัมการใช้จ่ายภายในประเทศและแรงหนุนต่อเนื่องจากผลของมาตรการภาครัฐ ก็น่าจะช่วยประคองให้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2556 ไม่สะท้อนภาพที่น่ากังวล แต่กลับเป็นการชะลอลงสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 1/2556 ไว้ที่ร้อยละ 5.3 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย