Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มีนาคม 2556

เศรษฐกิจไทย

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยก.พ. 2556 ชะลอลง จากผลของฐาน และวันทำการ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3419)

คะแนนเฉลี่ย

ทิศทางเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนก.พ. 2556 สะท้อนภาพการกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น ขณะที่ ผลจากจำนวนวันทำการที่น้อยในระหว่างเดือน และผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงขึ้นในช่วงเดียวกันปีก่อน ก็ทำให้อัตราการขยายตัวของภาพรวมการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง (สอดคล้องกับทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่รายงานโดยสศอ.) แต่กระนั้น เครื่องชี้การใช้จ่ายภายในประเทศบางรายการยังคงขยายตัวในระดับที่สูงกว่าปกติ ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อการบริโภค และผลจากโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในปีก่อนที่มีผลต่อเนื่องมาในปีนี้ อาทิ โครงการรถคันแรก

  • ภาพรวมของการใช้จ่ายของภาคเอกชนในเดือนก.พ. 2556 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากผลของฐาน โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 3.3 (YoY) และร้อยละ 9.5 (YoY) ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การใช้จ่ายในประเทศในหลายๆ องค์ประกอบ ยังคงขยายตัวในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ยอดขายรถยนต์นั่ง รถกระบะ และปูนซิเมนต์
  • ดุลการค้ายังคงอ่อนแอ นอกจากจังหวะการแข็งค่าของเงินบาทที่เกิดขึ้นท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก จะมีผลต่อเส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยแล้ว ยังอาจส่งผลทำให้ฐานะดุลการค้ามีภาพที่อ่อนแอลงตามไปด้วย เนื่องจากทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น น่าจะเอื้อให้การนำเข้าในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตเร่งตัวขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา อาทิ การนำเข้าทองคำ ทั้งนี้ แม้ดุลการค้าจะพลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุลที่ 574.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.พ. แต่หากไม่นับรวมทองคำแล้ว ดุลการค้าในเดือนก.พ. จะสามารถบันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์ฯ

แม้จะมีความกังวลต่อประเด็นผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2556 แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยอาจยังคงสามารถบันทึกอัตราการเติบโตได้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2556 ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับทิศทางการใช้จ่ายในประเทศ และระดับสินค้าคงคลังที่คาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นตามการเร่งตัวของการนำเข้า ทำให้ เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับประมาณร้อยละ 5.3 (YoY) ในช่วงไตรมาส 1/2556 สำหรับประมาณการภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ยังคงไว้ที่ร้อยละ 4.8 โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3-5.3 ตามเดิม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย