Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 เมษายน 2556

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อมี.ค. 2556 ชะลอลงต่อเนื่อง...แนวโน้มยังคงทรงตัวในช่วงหลายเดือนข้างหน้า (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3421)

คะแนนเฉลี่ย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยในเดือนมี.ค. 2556 ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.69 (YoY) และร้อยละ 1.23 (YoY) ซึ่งต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และ 27 เดือน ตามลำดับ โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าแล้ว สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในเดือนมี.ค. 2556 ขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.07 (MoM) จากเดือนก.พ. 2556 โดยการปรับสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ (เพิ่มร้อยละ 2.8 MoM ตามสภาพอากาศที่แปรปรวน) ถูกหักล้างโดยการปรับตัวลงของราคาในหมวดเนื้อสัตว์ (ลดลงร้อยละ 0.62 MoM ตามปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด และความต้องการที่ลดลงในช่วงปิดเทอม) และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (ลดลงร้อยละ 0.40 MoM ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 1/2556 จะออกมาสอดคล้องกับประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แต่กระนั้น คงต้องยอมรับว่า อาจมีหลายตัวแปรที่จะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อจากกระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยนอกเหนือจากตัวแปรค่าเงินบาทและทิศทางน้ำมันในตลาดโลกแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายเวลาของมาตรการดูแลภาระค่าครองชีพด้านการเดินทาง และการเลื่อนเวลาปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศแห้งแล้งที่มีต่อราคาอาหารสด และทำให้อัตราเงินเฟ้อสุทธิในช่วงหลายเดือนต่อจากนี้ไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก ซึ่งเมื่อรวมกับภาวะการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่ภาวะปกติ ก็น่าจะช่วยลดแรงกดดันจากการส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ และอาจทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2556 เคลื่อนจากกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.3 เข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการที่ร้อยละ 3.0-3.6

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย