Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 เมษายน 2556

เศรษฐกิจไทย

วันแรงงานแห่งชาติ: การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ยังคงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2357)

คะแนนเฉลี่ย

วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 นับเป็นวันเฉลิมฉลองวันแรงงานแห่งชาติปีแรกที่แรงงานไทยได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาอยู่ในอัตราเท่ากันที่ 300 บาทต่อวันทั่วทั้งประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งต่อเนื่องจากการปรับนำร่องใน 7 จังหวัดไปแล้วก่อนหน้านั้น โดยแม้ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จะมีผลโดยสมบูรณ์มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เครื่องชี้สถานการณ์ในตลาดแรงงานก็ยังไม่มีข้อมูลตัวเลขที่ปรากฏให้เห็นถึงผลกระทบในทางลบอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากภาวะการขาดแคลนแรงงานในหลายสาขาการผลิต/บริการ ยังช่วยดูดซับกำลังแรงงานใหม่และแรงงานที่ถูกเลิกจ้างไว้ได้บ้างบางส่วน ขณะที่ภาคธุรกิจก็มีการปรับตัวต่อต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการปรับตัวของธุรกิจดังกล่าว น่าจะมีส่วนช่วยให้ความต้องการแรงงานเพื่อนำไปสร้างผลผลิตต่อหน่วยในระบบเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดลง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2556 จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 (เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ร้อยละ 1.7) ซึ่งหากทั้งปี 2556 จำนวนผู้มีงานทำยังคงเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.2 ดังกล่าว ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 4.8 ตามการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยในปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 ต่อปี

กระนั้น ผลของกระบวนการปรับตัวของธุรกิจอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าที่จะเห็นผลกระทบที่แท้จริง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ธุรกิจเผชิญแรงบีบคั้นอื่นๆ อีกหลายด้าน โดยในระยะสั้น ความซบเซาของเศรษฐกิจคู่ค้า ความผันผวนของค่าเงินบาท และแรงกดดันด้านต้นทุน อาจทำให้ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SMEs ในภาคการส่งออก) ยังคงต้องรับมือกับแนวโน้มที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นในระยะข้างหน้า ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการว่างงานของไทยในปี 2556 ยังคงมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7-0.9) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2555

สำหรับในระยะต่อไป ยังมีอีกหลายประเด็นที่ภาคแรงงานไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ซึ่งคงต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างแรงงานและผู้ประกอบการ ขณะที่ ภาครัฐบาลก็คงต้องดำเนินบทบาทในการยกระดับปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อคุณภาพแรงงาน กำหนดทิศทางการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและทิศทางการพัฒนาประเทศ ลดการพึ่งพาแรงงานทักษะระดับล่าง แก้ปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงานในตลาด ตลอดจนเป็นผู้สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะผู้ใช้แรงงานเพื่อยกระดับผลิตภาพโดยรวมของประเทศ รวมทั้งต้องพัฒนาแนวทางการคุ้มครองและสวัสดิการแรงงานให้เป็นมาตรฐานสากลและมีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ภาคแรงงานไทยมีความแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย