Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 พฤษภาคม 2556

เศรษฐกิจไทย

เงินเฟ้อไตรมาส 2/2556...อาจชะลอลงตามสถานการณ์การใช้จ่ายในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3427)

คะแนนเฉลี่ย

เครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนบางรายการที่เริ่มมีสัญญาณชะลอลงจากช่วงหลายเดือนก่อน น่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้แรงหนุนเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีภาพไม่ชัดเจนมากนักในช่วงไตรมาสที่ 2/2556 ซึ่งสอดคล้องกับการส่งผ่านภาระต้นทุนมาที่ราคาสินค้าที่ยังทำได้อย่างจำกัด ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อล่าสุดยังคงชะลอตัวลงในเดือนเม.ย. 2556 มาที่ร้อยละ 2.42 (YoY) จากร้อยละ 2.69 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2556 โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการแช็งค่าของเงินบาท ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.18 (YoY) ในเดือนเม.ย. ต่ำลงจากร้อยละ 1.23 (YoY) ในเดือนมี.ค.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์การบริโภคของไทยที่อาจชะลอลงในช่วงไตรมาส 2/2556 ตามภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงหลายเดือนข้างหน้าไม่ฉีกตัวสูงขึ้นไปจากระดับอัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.-เม.ย.ได้มากนัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2/2556 จะชะลอลงมามีค่าเฉลี่ยที่ไม่เกินร้อยละ 2.4 (YoY) จากร้อยละ 3.1 (YoY) ในไตรมาส 1/2556 ก่อนจะขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีตามภาระต้นทุนของภาคธุรกิจ ขณะที่ ประมาณการเงินเฟ้อในปี 2556 อาจชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งต่ำลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งภาพที่ผ่อนคลายของเงินเฟ้อนี้ อาจช่วยประคองบรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชนไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่ผ่อนคลายอาจจะยังไม่ใช่ตัวแปรที่มีน้ำหนักมากนักต่อกนง.ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบปกติวันที่ 29 พ.ค. 2556 ที่จะถึงนี้ ตราบเท่าที่กนง.ยังคงมองว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประมาณการ ขณะที่ กนง.ก็น่าจะยังคงให้น้ำหนักกับประเด็นด้านเสถียรภาพ โดยเฉพาะการชะลอความร้อนแรงของบางภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายตัวของสินเชื่อบางประเภท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย