Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 มิถุนายน 2556

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ยังต่ำจากผลของฐาน แม้ราคาสินค้าจะขยับขึ้นรายเดือนมากที่สุดนับจากต้นปี (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3434)

คะแนนเฉลี่ย

อัตราเงินเฟ้อล่าสุดของไทยในเดือนพ.ค. 2556 ชะลอลง โดยเงินเฟ้อทั่วไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 42 เดือนที่ร้อยละ 2.27 (YoY) ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับลงต่อเนื่อง มาที่ร้อยละ 0.94 (YoY) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่ง

ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.24 (MoM) ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ารายเดือนที่มากที่สุดนับจากต้นปี 2556 และสะท้อนว่า ภาวะค่าครองชีพของประชาชนยังคงขยับสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในกลุ่มอาหารสดที่ออกสู่ตลาด และเมื่อรวมกับแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลทำให้ราคาอาหารบางหมวดเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมากในระหว่างเดือน อาทิ ราคาผัก/ผลไม้สด (+4.39 %MoM) ไข่ (+8.79 %MoM) ขณะที่ ราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม ก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาด้วยเช่นกัน อนึ่ง การปรับตัวลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ (-0.35 %MoM) ตามทิศทางตลาดโลก และค่าไฟฟ้า (-1.24 %MoM) ตามการปรับลดค่า Ft รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2556 ชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อไว้ได้บางส่วนเท่านั้น เพราะดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. ยังคงเพิ่มจากเดือนเม.ย. ร้อยละ 0.24 (MoM) เทียบกับในเดือนเม.ย.ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.เพียงร้อยละ 0.16 (MoM)

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2556 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ร้อยละ 2.6 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.4-3.0) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.4 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 1.2-1.7) ไว้ตามเดิม โดยประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงช่วงท้ายๆ ไตรมาส 3/2556 ก่อนจะขยับขึ้นในช่วงปลายปี 2556

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย