Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ตุลาคม 2556

เศรษฐกิจไทย

ช่วง 1 เดือนของเทศกาลทอดกฐินปี’56 : คนไทยร่วมงานทอดกฐินต่างจังหวัด...ใช้จ่ายสะพัดประมาณ 8,700 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2420)

คะแนนเฉลี่ย

ในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากจะมีงานประเพณีทำบุญเนื่องในวันออกพรรษาแล้ว ยังมีเทศกาลทอดกฐินในช่วง 1 เดือนหลังจากออกพรรษา ซึ่งพุทธศาสนิกชนคนไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการทอดกฐินและปฏิบัติสืบต่อกันมานับแต่พุทธกาล ด้วยความเชื่อที่ว่า การทำบุญทอดกฐินจะได้รับอานิสงส์ อันยิ่งใหญ่ ในแต่ละปีจึงมีคนไทยร่วมทำบุญในงานประเพณีทอดกฐินตามวัดวาอารามใกล้บ้าน หรือวัดที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ทั้งนี้ การทอดกฐิน เป็นงานบุญประเพณีทางพุทธศาสนา ซึ่งทำกันในช่วงระยะเวลา
1 เดือนภายหลังจากออกพรรษา โดยนอกจากค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำบุญทอดกฐินแล้ว การเดินทางไปทอดกฐินตามวัดในต่างจังหวัดของพุทธศาสนิกชนบางส่วน มีแนวโน้มก่อให้เกิดการใช้จ่ายสะพัดสู่แหล่งท่องเที่ยวตามเส้นทางที่เดินทางไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการร่วมงานประเพณีทอดกฐินของคนไทยในช่วงเทศกาลทอดกฐินปี 2556 ระหว่างวันที่ 19 กันยายน – 4 ตุลาคม 2556 จากกลุ่มตัวอย่างที่พำนักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และกลุ่มตัวอย่างที่พำนักอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด จำนวน 505 คน โดยครอบคลุมในทุกช่วงอายุ และทุกระดับรายได้ โดยผลการสำรวจ พบประเด็นที่สำคัญ คือ กลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 44.2 ตั้งใจจะเข้าร่วมงานทอดกฐินปีนี้ ทั้งนี้คนไทยส่วนใหญ่ที่ตั้งใจจะร่วมงานทอดกฐิน คือ กลุ่มอายุระหว่าง 25 – 34 ปี ขณะที่การเดินทาง ส่วนใหญ่จะเดินทางไปกับสมาชิกในครอบครัว และกลุ่มเพื่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ระหว่างที่เดินทางไปร่วมงานทอดกฐินตามต่างจังหวัดของคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด ในช่วง 1 เดือนของเทศกาลทอดกฐินในปีนี้ว่า มีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,700 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือ ธุรกิจบริการด้านคมนาคม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,600 ล้านบาท ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เม็ดเงินมูลค่าประมาณ 3,300 ล้านบาท และธุรกิจจำหน่ายสินค้าประเภทของฝากของที่ระลึก มูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย