แรงกดดันเงินเฟ้อช่วงปลายปี 2556 ยังอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับสัญญาณซบเซาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธ.ค. 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.67 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้จะชะลอลงจากระดับร้อยละ 1.92 (YoY) ในเดือนพ.ย. 2556 แต่ก็เป็นระดับที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับประมาณร้อยละ 1.5-1.6 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยและผลสำรวจนักวิเคราะห์โดยรอยเตอร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้น ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.91 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2556 จากร้อยละ 0.85 (YoY) และร้อยละ 0.71 ในเดือนพ.ย. และเดือนต.ค. ตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อไทยอาจทรงตัว-ขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2557 แต่ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป น่าจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงร้อยละ 2.0 (YoY) ในช่วงไตรมาสที่ 1/2557 โดยปัจจัยที่อาจส่งผลหนุนระดับราคาสินค้าผู้บริโภค ประกอบด้วย ทิศทางเงินบาทที่ยังเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ทั้งในส่วนของภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ค่าไฟฟ้า Ft ที่จะปรับเพิ่มในอัตรา 5 สตางค์/หน่วย ในงวดแรกเดือนม.ค.-เม.ย. 2557 และฐานตัวเลขเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงไตรมาสแรกปี 2556
อย่างไรก็ดี คาดว่า ภาพรวมเงินเฟ้อในปี 2557 น่าจะยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.2-2.6 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกทยอยขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจจะทยอยขยับสูงขึ้น ยังไม่น่าจะเป็นอุปสรรคมากนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ หากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในปีนี้ตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ ซึ่งทำให้ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตายังอยู่ที่ทางออกของปัญหาทางการเมืองในประเทศ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น