เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ทำการแรกของปี 2557 ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียดทางการเมืองในประเทศ และกระแสการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากแนวโน้มการชะลอมาตรการ QE ของเฟด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยิ่งตอกย้ำความกังวลต่อภาวะเงินทุนไหลออก แต่กระนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงสอดคล้องกับทิศทางส่วนใหญ่ของสกุลเงินในภูมิภาคเอเชีย
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศที่ยังน่าจะผลักดันให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้ว่าทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลดีในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ส่งออกที่แปลงเงินดอลลาร์ฯ กลับมาเป็นเงินบาทได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจเอื้ออานิสงส์ต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยในขอบเขตจำกัดหากสกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าในระดับใกล้เคียงหรือมากกว่าค่าเงินบาท ในอีกด้านหนึ่ง เงินบาทที่อ่อนค่าจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ผ่านราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระทบต่อการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มซบเซาอยู่แล้ว
ทั้งนี้ ธุรกิจที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ได้แก่ กลุ่มธุรกิจส่งออกที่ใช้ปัจจัยการผลิตภายในประเทศในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าเกษตรและอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มสินค้าแฟชั่น ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวและสุขภาพ เป็นต้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น