Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มกราคม 2557

เศรษฐกิจไทย

ตรุษจีนปีมะเมีย: ค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้คนกรุงเทพฯ มูลค่า 5,800 ล้านบาท ... ค่าครองชีพยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2454)

คะแนนเฉลี่ย

;เทศกาลตรุษจีน” หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวจีนในไทยปีนี้ ดูเหมือนไม่คึกคักเท่าปีก่อน จากแรงกดดันของปัจจัยด้านภาระหนี้ครัวเรือน รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองที่ส่งผลต่อกำลังซื้อและอารมณ์การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง แต่กระนั้นก็ตาม เนื่องด้วยตรุษจีนถือเป็นเทศกาลใหญ่และสำคัญที่สุดสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน ประกอบกับการยึดมั่นในประเพณีที่เหนียวแน่น จึงมีเม็ดเงินจากการใช้จ่ายกระจายไปสู่ธุรกิจจำหน่ายเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ และกระดาษไหว้เจ้า โดยผู้ประสงค์จะจัดพิธีกรรมในเทศกาลตรุษจีน ส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่าย ตามปัจจัยด้านราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ในขณะที่บางส่วนที่มีปัญหาด้านกำลังซื้อจะยังคงงบประมาณไว้เท่าเดิม โดยปรับลดเครื่องเซ่นไหว้ลงและมีส่วนน้อยที่จะลดงบประมาณลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2557 ของคนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 5,800 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงหากเทียบกับปี 2556 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยงบประมาณเฉลี่ยในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ประมาณคนละ 3,600 บาท เพิ่มขึ้นเทียบกับ 3,450 บาทในปีที่ผ่านมา

สำหรับช่องทางการซื้อเครื่องเซ่นไหว้นั้น ถึงแม้ว่าช่องทางดั้งเดิมอย่างตลาดสดและร้านจำหน่ายย่านเยาวราช จะยังคงเป็นแหล่งจับจ่ายที่สำคัญของคนกรุงเทพฯ แต่ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ก็นับว่ามีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกัน ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในปัจจุบัน ได้เข้ามาให้ความสนใจกับตลาดเครื่องเซ่นไหว้ตามเทศกาลสำคัญทั้งตรุษจีน สารทจีนและไหว้พระจันทร์ โดยมีการนำเสนอชุดเครื่องเซ่นไหว้ที่จัดครบตรงตามประเพณี มีแบบครบครัน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาเดินทางรวบรวมซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในหลายๆ สถานที่ ในขณะที่ร้านค้าปลีกบางแห่ง นำเสนอทางเลือกสำหรับลูกค้าที่ไม่มีเวลา โดยสามารถสั่งซื้อเครื่องเซ่นไหว้ทางโทรศัพท์หรือแบบออนไลน์ และมีบริการจัดส่งถึงบ้านเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นจุดเด่นและสร้างความแตกต่างระหว่างการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ในร้านค้าปลีกสมัยใหม่เทียบกับตลาดแบบดั้งเดิม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย