ภายใต้ภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้น คงส่งผลให้กลไกทางด้านนโยบายการคลังคงไม่สามารถดำเนินได้เหมือนดังเช่นในภาวะปกติ จึงนำไปสู่คำถามว่า เม็ดเงินการใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐมีความเสี่ยงที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ภายใต้ข้อสมมติฐานความเป็นไปได้ที่ภาวะสุญญากาศทางการเมืองจะลากยาวไปถึงครึ่งหลังของปี 2557 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินสถานการณ์ ดังนี้
Ø - เมื่อพิจารณาในมิติของเม็ดเงินใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐโดยรวม พบว่า ภาวะสุญญากาศทางการเมืองคงส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและโครงการลงทุนนอกงบประมาณ ทำให้คาดว่าเม็ดเงินการใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐคงหายไปจากระบบเศรษฐกิจในปีปฏิทิน 2557 ทั้งสิ้น ในกรอบประมาณ 48,000-80,000 ล้านบาท หรือราว 0.5-0.8% ของ GDP
Ø - หากการเมืองยังไร้เสถียรภาพยาวนานจนถึงปี 2558 ผลกระทบต่อการใช้จ่าย-ลงทุนภาครัฐ คงขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ที่มีความล่าช้าออกไป ซึ่งจะทำให้งบลงทุนที่เป็นโครงการใหม่ทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้ รวมไปถึงเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางส่วนด้วย ซึ่งต้องจับตาดูพัฒนาการทางการเมืองในส่วนนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
Ø - เม็ดเงินการใช้จ่าย-ลงทุนของภาครัฐที่เบิกจ่ายล่าช้า นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจีดีพีผ่านการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่คงมีโอกาสหดตัวแล้ว ยังจะส่งผลต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนอีกด้วย เนื่องจากสถานะของรัฐบาลรักษาการไม่เอื้อต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นชุดใหม่ ขณะที่ภาคเอกชนก็คงต้องชะลอการลงทุนจนกว่าการเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
Ø - ภายใต้กลไกทางการคลังที่จำกัด นโยบายการเงินคงเป็นเพียงกลไกเดียวที่จะสามารถประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่างคงมีน้ำหนักมากขึ้นต่อท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงินในระยะถัดไป
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น