Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กุมภาพันธ์ 2557

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไตรมาส 4/2556: การบริโภคและการลงทุนหดตัวต่อเนื่อง สะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 3483)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ตัวเลขภาพรวมของจีดีพีไตรมาส 4/2556 จะออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แต่หากพิจารณาในองค์ประกอบแล้ว จะพบว่า กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศไม่ว่าจะเป็นการบริโภค (หดตัวร้อยละ 4.5 YoY) และการลงทุน (หดตัวร้อยละ 11.3 YoY) ล้วนหดตัวลงมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ การบริโภคของภาครัฐขยายตัวในระดับต่ำ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้จีดีพียังคงเป็นบวกได้ (ขยายตัวร้อยละ 0.6 YoY) นั้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง (ร้อยละ 82.5 YoY) และการขยายตัวของการส่งออกสุทธิ (ขยายตัวร้อยละ 25.3 YoY) เป็นสำคัญ

สำหรับภาพรวมในปี 2556 นั้น เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอลงจากร้อยละ 6.5 ในปี 2555 ตามภาวะอ่อนแรงของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 0.2 การลงทุนโดยรวมหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 1.9 ขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (ณ ราคาคงที่) พลิกกลับมามีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ความไม่ชัดเจนของบทสรุปทางการเมืองในประเทศ ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดกรอบการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศ และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 อย่างไรก็ดี คงจะต้องติดตามตัวแปรอื่นๆ อาทิ ภาระค่าครองชีพ/หนี้ครัวเรือน ภาวะภัยแล้งซึ่งมีผลต่อรายได้เกษตรกร และทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ที่อาจเพิ่มแรงกดดันต่อภาพเศรษฐกิจในปีนี้ที่ปัจจุบันศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อาจขยายตัวได้ราวร้อยละ 3.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 2.2-3.7)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย