ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมี.ค. 2557 ขยับขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.22 (MoM) นำโดย ราคาสินค้าในหมวดอาหาร/เครื่องดื่มที่ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.45 (MoM) ทั้งในส่วนของอาหารสด (เนื้อสัตว์ และผลไม้) และอาหารบริโภคนอกบ้าน ขณะที่ ราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร/เครื่องดื่ม ก็ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.10 (MoM) ตามการขยับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ร้อยละ 2.11 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2557 เทียบกับร้อยละ 1.96 (YoY) ในเดือนก.พ. 2557 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีที่ร้อยละ 1.31 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2557 จากร้อยละ 1.22 (YoY) ในเดือนก่อนหน้า อนึ่ง ทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นภาพที่สวนทางกับสถานการณ์การบริโภคของภาคเอกชนที่อยู่ในภาวะหดตัวตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2556 เป็นต้นมา
แม้การบริโภคภาคเอกชนน่าจะยังมีทิศทางชะลอตัวในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ อาจยังคงปรับสูงขึ้นตามภาวะต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 2/2557 อาจมีค่าเฉลี่ยราวร้อยละ 2.2 (YoY) สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 ในไตรมาสแรกของปี สำหรับภาพรวมในปี 2557 นั้น เส้นทางการฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังไม่ชัดเจนมากนักในเวลานี้ ทำให้ประเมินว่า แม้แรงกดดันเงินเฟ้ออาจทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่ก็ยังน่าจะอยู่ในกรอบที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.2-2.6
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น