Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 เมษายน 2557

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจ-การเมือง ...กดดันภาวะการจ้างงานปี’57 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2496)

คะแนนเฉลี่ย

เแม้สถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในปี 2557 จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน รวมทั้งภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่กลายเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการดูดซับแรงงานของภาคเกษตรกรรม และทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนผู้ว่างงานของไทยในปี 2557 อาจปรับเพิ่มขึ้นมามีค่าเฉลี่ยที่ 3.20 แสนคน (กรอบคาดการณ์ 2.90-3.80 แสนคน) ส่งผลทำให้อัตราการว่างงานขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 0.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.7-1.0) จากร้อยละ 0.7 ในปี 2556 อย่างไรก็ดี ยังถือว่าเป็นระดับการว่างงานที่ต่ำมาก และสะท้อนว่า ยังคงมีภาวะการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะแรงงานพื้นฐานที่ยังคงมีความต้องการสูงในหลายๆ สาขาการผลิต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ น่าจะคลี่คลายลงในช่วงที่เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งทำให้โจทย์ที่ท้าทายในระยะยาวของตลาดแรงงานไทย ยังคงเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (โดยเฉพาะแรงงานขั้นพื้นฐาน และแรงงานกึ่งทักษะ) ความไม่สมดุลของจำนวนแรงงานและความต้องการในแต่ละภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการชะลอตัวลงของผลิตภาพแรงงาน ประเด็นดังกล่าวอาจฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และบดบังจุดเด่นของแรงงานไทยที่มีความได้เปรียบด้านความคิดสร้างสรรค์ และมีความละเอียดประณีต เมื่อเทียบกับแรงงานเพื่อนบ้านในอาเซียน

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ นายจ้าง/ภาคธุรกิจ และตัวแทนภาคแรงงาน ควรร่วมมือกันวางแนวทางเพื่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะภาครัฐที่อาจต้องเป็นแกนหลักในการวางแผนการพัฒนาแรงงานแบบบูรณาการ ด้วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ปฏิรูประบบการศึกษา และกำหนดแนวทางการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาคเอกชนนั้น อาจสร้างแรงจูงใจในการทำงานด้วยทัศนคติเชิงบวก และให้ความสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาทักษะ/คุณลักษะที่จำเป็นต่อการปฎิบัติงาน ทั้งในส่วน On-the-job training และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม/สัมมนา/ดูงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวสามารถทำได้ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยให้แรงงานสามารถทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย