Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มกราคม 2558

เศรษฐกิจไทย

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ... เสริมความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ฝ่าปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปีมะแม (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2578)

คะแนนเฉลี่ย

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการบังคับใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ตามที่กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ ทำให้ประเทศไทยสามารถใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่อิงกับเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เต็มปีได้อย่างเป็นทางการในปี 2558 ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าว มีค่าเฉลี่ยรายปีที่ 2.5% โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวขึ้นลง (+/-) ไม่เกิน 1.5% เทียบกับเดิมที่การดำเนินนโยบายการเงินจะอิงกับกรอบเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ที่ 0.5-3.0% ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 ทั้งนี้ การกำหนดเงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมายเชิงนโยบายดังกล่าว สอดคล้องกับธนาคารกลางหลายประเทศในโลก ด้วยจุดเด่นโดยเฉพาะในด้านการสื่อสารทิศทางนโยบายกับสาธารณะ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะรวมราคาสินค้าทุกประเภท ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ผู้บริโภคเผชิญในชีวิตประจำวันได้ดี ดังนั้น จึงช่วยให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถเข้าใจทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางได้ง่ายกว่าเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขจัดราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานออกไป อันปูทางไปสู่การปรับตัวของสาธารณชนไปในทิศทางที่ธนาคารกลางต้องการได้มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังถูกใช้เป็นอัตราอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรคุ้มครองเงินเฟ้อ รวมทั้ง ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการคำนวนการปรับขึ้นของค่าจ้าง การจ่ายเงินบำนาญ รวมทั้ง การจัดทำแผนงบประมาณของภาครัฐและเอกชนด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายปีที่อยู่ในกรอบเป้าหมายใหม่ คงทำให้ ธปท.ไม่ต้องพะวงกับแรงกดดันด้านราคา เนื่องจากเป็นที่คาดหมายว่าราคาพลังงานโลกยังมีทิศทางที่ผ่อนคลาย ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากแผนปรับโครงสร้างพลังงานในประเทศ ต่อระดับเงินเฟ้อ และส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของทั้งปี 2558 ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้วยกรอบคาดการณ์ประมาณ 1.0-2.2% หรือมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 1.5% เทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ของ ธปท. ที่ 1.0-4.0% (หรือ 2.5% +/- 1.5%) ทั้งนี้ ภาพดังกล่าว ทำให้ ธปท.มีความยืดหยุ่นเชิงนโยบาย โดยสามารถเลือกรอติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เพื่อประเมินระดับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงที่ชัดเจนขึ้น ก่อนที่จะพิจารณาท่าทีเชิงนโยบายที่เหมาะสมในจังหวะนั้นๆ ในลำดับถัดไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย