ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนพ.ค. 2558 ลดลงร้อยละ 1.27 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่ติดลบร้อยละ 1.04 (YoY) ในเดือนเม.ย. 2558 โดยสาเหตุที่เงินเฟ้อติดลบเป็นผลมาจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 17.4 (YoY) และร้อยละ 4.9 (YoY) ตามลำดับ โดยในส่วนของค่ากระแสไฟฟ้านั้น ปรับลดลงตามค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ที่ลดลง 9.35 สตางค์/หน่วย มาจัดเก็บที่ 49.61 สตางค์/หน่วยในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2558
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจจากข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค. 2558 ก็คือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งชะลอลงมากกว่าที่คาดมาที่ ร้อยละ 0.94 (YoY) ซึ่งอาจสะท้อนว่า ทิศทางการฟื้นตัวของเครื่องชี้การใช้จ่ายภายในประเทศยังคงค่อนข้างเปราะบางขาดแรงกระตุ้น แม้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าในภาพรวมจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อนั้น สัญญาณเงินเฟ้อและเครื่องชี้ภาวะการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งน่าจะยังมีภาพที่อ่อนแอต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 อาจมีค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์สำหรับกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 0.5 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจเคลื่อนลงเข้าใกล้กรอบล่างของช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.0-1.0
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น