Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มิถุนายน 2558

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนไทย แม้ยังขึ้นต่อ...แต่ส่วนใหญ่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและสถาบันการเงินดูแลใกล้ชิด (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3565)

คะแนนเฉลี่ย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยประจำไตรมาส 1/2558 พบว่ามีจำนวนรวม 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2/2558 ต่อเนื่องถึงท้ายปี 2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ายังมีทิศทางขาขึ้น ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อจากครัวเรือนหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนระดับกลางขึ้นไปที่ยังคงมีอุปสงค์ในการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ และครัวเรือนระดับกลางถึงล่างที่พึ่งพิงสินเชื่อจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ อย่างไรก็ดี ยังเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้าจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเฝ้าระวังของสถาบันการเงินเพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้ไม่เป็นประเด็นกังวล โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเพื่ออุปโภคและบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งค้ำไม่มีหลักทรัพย์ประกัน ดังสะท้อนให้เห็นผ่านการอนุมัติสินเชื่อใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น อีกทั้งยังมีการออกมาตรการเพื่อสร้างวินัยทางการเงินและจำกัดการเบิกใช้สินเชื่อในกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือลูกค้านั้น คงมีผลช่วยลดภาระให้กับครัวเรือนกลุ่มเสี่ยงได้บางส่วน

ทั้งนี้ แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ต้องยอมรับว่ายังมี องค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ ที่ช่วยบรรเทาความกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพรวม ได้แก่ ประการแรก ครัวเรือนไทยยังคงมีจุดแข็งด้านสินทรัพย์ เนื่องจากครัวเรือนกว่าร้อยละ 77 เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ประการที่ 2 หนี้สินครัวเรือนสะสมร้อยละ 46.8 ต่อจีดีพี เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งช่วยปิดความเสี่ยงให้กับระบบการเงินไทยได้ส่วนหนึ่ง กระนั้นก็ดี เมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศทางไปจากปัจจุบัน สถานการณ์การออมภาคครัวเรือนที่ยังคงน่ากังวล อันสะท้อนจากระดับการออมภาคครัวเรือนต่อจีดีพีที่ถดถอยลงจากอดีต คงจะกลับมาเป็นโจทย์ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานะทางการเงินของครัวเรือนไทยในระยะยาว อันจะทำให้สามารถผ่านด่านความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ในระยะถัดไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย