การผลักดันโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งวางนโยบายที่จะเร่งผลักดันโครงการใหม่ 17 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ในปี 2558-2559 เพื่อช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนและก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง8 เดือนแรกของปี 2558 ที่ผ่านมา การลงทุนในโครงการด้านคมนาคมโดยส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่องซึ่งมีเพียงโครงการขนาดกลางและขนาดย่อย แต่ในช่วงที่เหลือของปี 2558 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมน่าจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในส่วนของการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลได้มีการอนุมัติ ไปแล้ว เช่น โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน (ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด และโครงการพัฒนาถนนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งโครงการเหล่านี้น่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 โดยบางโครงการอาจจะเริ่มเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อน แล้วจึงดำเนินการก่อสร้างในช่วงเวลาถัดไป
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ประมาณ 97,000 - 101,400 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 20 - 25 (Y-o-Y) จากที่มีมูลค่า 113,787 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 78 (Y-o-Y)ในครึ่งปีแรก (ซึ่งการขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปี 2557 ที่มีสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง)
สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ภาครัฐจะพยายามขับเคลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วและโครงการต่อเนื่อง เพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 น่าจะมีมูลค่าโดยรวม 142,000-148,500 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 25-30 (Y-o-Y)
อย่างไรก็ดี จากที่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการจะเกิดขึ้นพร้อมกันในระยะข้างหน้า ภาครัฐ ควรร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนากำลังแรงงานที่ไหลออกจากภาคการเกษตร เพื่อทดแทนปัญหาการขาดแคลน แรงงานในธุรกิจก่อสร้าง และภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ กลุ่มเครื่องจักร/อุปกรณ์นำเข้าที่เกี่ยวกับงานก่อสร้าง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น