อัตราเงินเฟ้อไทยติดลบตลอดช่วง 12 เดือนของปี 2558 จากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงตามทิศทางตลาดโลก โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 0.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในเดือนธ.ค. 2558 ต่อเนื่องจากที่ติดลบร้อยละ 0.97 (YoY) ในเดือนพ.ย. 2558 และส่งผลทำให้ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อในปี 2558 พลิกกลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ 0.90 ซึ่งนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดของไทยนับตั้งแต่ปี 2520 เป็นอย่างน้อย (กระทรวงพาณิชย์เผยแพร่ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคปีฐาน 2554 ในเว็บไซต์ย้อนหลังจนถึงปี 2519)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพเงินเฟ้อติดลบมีแนวโน้มที่จะลากยาวตลอดไตรมาสแรกของปี 2559 เนื่องจากผลของราคาน้ำมัน การปรับลดต้นทุนค่าขนส่ง และค่าไฟฟ้า Ft อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้ออาจกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2/2559 และขยับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 (เนื่องจากเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2558) อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2559 มีโอกาสต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ร้อยละ 1.2 ขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
อนึ่ง อัตราเงินเฟ้อ / ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่อาจจะยังคงปรับลดลงในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ตามปัจจัยทางด้านอุปทานและตัวแปรในฝั่งต้นทุนของผู้ผลิต อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และน่าจะยังไม่สะท้อนสถานการณ์ที่น่ากังวลมากนัก หากว่าโมเมนตัมการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศในช่วงหลังจากนี้มีความต่อเนื่อง และทยอยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น