เมื่อไม่นานมานี้ มีข้อเสนอให้มีการติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ที่นับเป็นอีกหนึ่งมาตรวัดทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งหนึ่งในข้อดีของ GNP ก็คือ ความครอบคลุมที่จะกระจายไปถึงมิติรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งนี้ มาตรวัด GDP จะสะท้อนผลรวมของมูลค่าสินค้า/บริการขั้นสุดท้ายที่ “ผลิตขึ้นภายในประเทศ” ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลสัญชาติใดก็ตาม ขณะที่ GNP จะวัดเฉพาะมูลค่าสินค้า/บริการขั้นสุดท้ายที่ “เป็นของบุคคลในประเทศ” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกประเทศก็ตาม ดังนั้น มูลค่า GNP จะสูง หรือต่ำกว่า GDP ก็ได้ในความเป็นจริงสำหรับประเทศหนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับว่า รายได้ในต่างประเทศจากฝีมือของบุคคลในประเทศ (จากค่าจ้างและดอกผลจากการลงทุน) สูง หรือต่ำกว่า รายได้ที่สร้างขึ้นในประเทศโดยฝีมือของชาวต่างชาติ
สำหรับกรณีของประเทศไทย และเพื่อนบ้านในอาเซียนบางประเทศ อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ล้วนมีมูลค่า GNP อยู่ต่ำกว่า GDP เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังสะท้อนถึงบทบาทความสำคัญของธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งทำให้แต่ละประเทศมีการจ่ายค่าผลประโยชน์จากการลงทุนและค่าตอบแทนจากการทำงาน ให้กับชาวต่างชาติมากกว่าส่วนที่รับจากต่างประเทศ
แต่กระนั้น อัตราการขยายตัวของ GNP ไทย ที่เริ่มแซงหน้าอัตราการขยายตัวของ GDP ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา [GNP ขยายตัวร้อยละ 2.2 และร้อยละ 3.6 ในปี 2557 และ 2558 สูงกว่าการเติบโตของ GDP ที่ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.8 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ] อาจสะท้อนว่า รายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศของไทยกำลังมีบทบาทความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต ดังนั้น สำหรับการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจในภาพรวม จึงไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงมาตรวัดเพียงตัวใดตัวหนึ่ง เพราะการวิเคราะห์ห์ข้อมูล GDP และ GNP ควบคู่กัน จะทำให้สามารถประกอบภาพในมุมกว้าง และเข้าใจการเชื่อมโยงของกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีกหัวใจสำคัญของการพัฒนาเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ก็คือ ความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล เพราะจะช่วยให้สามารถประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างครอบคลุมและเท่าทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น