Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 มีนาคม 2559

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 58 จบที่ 81.5% ส่วนไตรมาส 1/59 คาดไต่ระดับขึ้นไปที่ 81.5 – 82.0% จากสินเชื่อบ้าน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3614)

คะแนนเฉลี่ย

หนี้ครัวเรือนไทยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 4/2558 อยู่ที่ระดับ 81.5% ต่อจีดีพีตามคาด เทียบกับระดับ 81.1% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 3/2558 และ 79.8% ต่อจีดีพีในสิ้นปีก่อน โดยการปรับเพิ่มของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2558 น่าจะได้รับแรงหนุนจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) การเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายใช้สอยในช่วงท้ายปี 2) การเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการบังคับใช้อัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ในปี 2559 และ 3) การซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนตามมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 1/2559 คาดว่าอาจทรงตัวถึงปรับขึ้นเล็กน้อยมาที่ระดับ 81.5 – 82.0% ต่อจีดีพี จากการขยับขึ้นของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์หมดอายุลง ขณะที่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง ผนวกกับการชำระคืนสินเชื่อหลังเร่งใช้ในช่วงท้ายปี 2558 คงทำให้สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีโอกาสปรับลดลง ส่วนผู้ประกอบการที่น่าจะเป็นแกนนำการขับเคลื่อนสินเชื่อภาคครัวเรือนในช่วงไตรมาส 1/2559 นี้ คงได้แก่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากการตอบสนองต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองไว้ที่ระดับ 83.0 – 84.0% ตามหลายปัจจัยหนุน อาทิ 1) แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อบ้าน ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และ 2) สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค น่าจะสามารถกลับมาเติบโตได้หลังเข้าสู่ไตรมาส 2/2559 ส่วนประเด็นที่ต้องจับตา ยังคงได้แก่ ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงกับทั้งความก้าวหน้าของการส่งออก ความรุนแรงของปัญหาภัยแล้ง และความต่อเนื่องของการลงทุนภาครัฐ เพราะมีผลต่อความเชื่อมั่นในการเบิกใช้สินเชื่อและความสามารถในการเข้าเงินทุนของภาคครัวเรือนในระยะถัดไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย