Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 พฤษภาคม 2559

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/59 ขยายตัวดีกว่าคาด(มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3620)

คะแนนเฉลี่ย
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 กระเตื้องขึ้นกว่าที่คาด โดยจีดีพีที่ปรับฤดูกาลขยายตัวร้อยละ 0.9 (QoQ, s.a.) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดีขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 0.8 (QoQ, s.a.) ในช่วงไตรมาส 4/2558 (ตลาดคาดที่ร้อยละ 0.6 QoQ, s.a.) โดยมีแรงหนุนจาก 2 ส่วน คือ 1) การบริโภคภาคเอกชน (ขยายตัวร้อยละ 0.8 QoQ, s.a. ในไตรมาส 1/59 ขยับขึ้นจากร้อยละ 0.1 QoQ, s.a. ในไตรมาส 4/58) และ 2) การส่งออกสินค้าและบริการ (ขยายตัวร้อยละ 4.9 QoQ, s.a. ในไตรมาส 1/59 ขยับขึ้นจากร้อยละ 0.6 QoQ, s.a. ในไตรมาส 4/58)
ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 (YoY) ในไตรมาส 1/2559 ซึ่งนอกจากจะสูงกว่าที่คาดแล้ว ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และเร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.8 (YoY) ในไตรมาส 4/2558 ทั้งนี้ นอกจากแรงหนุนของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1/2559 จะยังคงมาจากการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ทำควบคู่ไปกับการทยอยเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนแล้ว ยังมีแรงเสริมมาจากกิจกรรมก่อสร้างของภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 7.0 YoY (จากที่หดตัวตลอดช่วงครึ่งหลังของปี 2558) นำโดย การก่อสร้างของอาคารที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ยังมีแรงบวกสำคัญอีกส่วนหนึ่งจากการส่งออกสินค้าและบริการที่กลับมาขยายตัวได้พร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 1.0 YoY (ซึ่งน่าจะมาจากการส่งออกทองคำ ข้าว น้ำตาล และสินค้าประมง) ขณะที่ การส่งออกบริการเติบโตถึงร้อยละ 18.8 (YoY) ซึ่งทำให้สถานการณ์การส่งออกสินค้าและบริการในภาพรวมของไทยในช่วงไตรมาส 1/2559 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.1 (YoY) ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 3.3 (YoY) ในไตรมาส 4/2558

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2559 นั้น เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3.0 ในประมาณการกรณีพื้นฐานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย อย่างไรก็ดี การประคองโมเมนตัมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่เหลือของปี 2559 ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 3.0 (YoY) นั้น ยังตั้งอยู่บนกับเงื่อนไขที่ว่า การใช้จ่ายและมาตรการของภาครัฐ (จากการจัดทำงบกลางปี และการเดินหน้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ) จะยังคงเข้ามาช่วยชดเชยแรงฉุดจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ล่าช้าของการใช้จ่ายภาคเอกชนไว้ได้อย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะต้องเริ่มคลายตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย