Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 มิถุนายน 2559

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2559 ชะลอลงจากกำลังซื้อที่จำกัด...ส่วนประมาณการทั้งปีปรับมาที่ 81.5-82.5% (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3628)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2559 ... หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีชะลอลงเล็กน้อย มาที่ระดับ 81.1% ต่อจีดีพี (นับเป็นการชะลอลงครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส) จากระดับ 81.6% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2558 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของยอดคงค้างของหนี้ครัวเรือน พบว่า ระดับหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น 3.86 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้า แตะระดับ 11.08 ล้านล้านบาท หรือเติบโตราว 4.7% YoY ชะลอลงเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัว 5.2% YoY ในไตรมาส 4/2558 โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในช่วงต้นปี 2559 ยังคงสอดคล้องกับภาระหนี้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือน (Debt Service Ratio: DSR) ในภาพรวมที่ยังไม่น่ากังวลมากนัก โดยล่าสุด ณ ปี 2558 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 28.4% เพิ่มขึ้นจากระดับ 27.2% ในปี 2556 เพียงเล็กน้อย และยังอยู่ห่างจากระดับ 40% ซึ่งเป็นมาตรวัดความสามารถในการคืนหนี้ที่เปราะบางของครัวเรือน อันบ่งชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในการคืนหนี้ยังไม่เป็นภาระหนักหรือเบียดเบียนการบริโภคของครัวเรือนในภาพรวมมากขึ้นไปกว่าเดิมนัก

สำหรับภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หนี้ครัวเรือนอาจเติบโตในกรอบที่ระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้นจึงปรับลดประมาณการหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2559 มาที่ระดับ 81.5 – 82.5% จากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 83 – 84% หลังเห็นสัญญาณการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงในหลายกลุ่มสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในช่วงครึ่งหลังของปีคงทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและเศรษฐกิจในภาพรวม โดยในช่วงไตรมาส 2/2559 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ขณะที่ โครงการบ้านประชารัฐที่รัฐบาลดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (วงเงิน 70,000 ล้านบาท) จะทยอยมีผลต่อหนี้ครัวเรือนในช่วง 2 ปีต่อจากนี้ ขณะที่ คาดว่า ธนาคารพาณิชย์ที่มุ่งเน้นการขยายสินเชื่อให้แก่ลูกค้าระดับกลางถึงบน รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เน้นกลุ่มครัวเรือนระดับกลางลงล่างตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากภาครัฐ จะยังคงเป็นเสาหลักในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือน ตามมาด้วยกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ให้บริการแก่สมาชิก อย่างไรก็ดี สินเชื่อของกลุ่มนอนแบงก์คงเติบโตค่อนข้างจำกัดจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย