Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 กันยายน 2559

เศรษฐกิจไทย

วิกฤตจราจรติดขัด: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ & วิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2771)

คะแนนเฉลี่ย

ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและสะสมอยู่กับคนกรุงเทพฯ มานาน อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมือง ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น หรือจำนวนรถโดยสารสาธารณะที่ไม่เพียงพอ ตลอดจนการขยายตัวของเศรษฐกิจกรุงเทพฯ จนทำให้กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่รถติดอันดับต้นๆ ของโลกจากหลายหน่วยงานในต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ จะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิธีการเดินทางของคนกรุงเทพฯ (Reallocation) ทำให้เกิดการบิดเบือนค่าใช้จ่ายจากธุรกิจหนึ่งไปสู่อีกธุรกิจหนึ่ง 2) การบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี และ 3) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจร

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมและมุมมองของคนกรุงฯ ที่มีต่อปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ พบว่า คนกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาที/การเดินทาง และเมื่อนำมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านเวลาที่คนกรุงเทพฯ ต้องรถติดอยู่บนถนน แทนที่จะนำเวลานั้นไปสร้างรายได้หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น คิดเป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 60 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประชากรยอมจ่ายเพื่อแลกกับการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ดี ปัญหาการจราจรติดขัดคงไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่มองไปในระยะข้างหน้า หากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเพื่อเชื่อมโยงโลจิสติกส์และการพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะมีความก้าวหน้ามากขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ บรรเทาลง อีกทั้งผลพลอยได้จากการลงทุนดังกล่าว ยังก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย