Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 ธันวาคม 2559

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับลดลงใน 3Q/2559 ขณะที่ ปี 2560 คาดอยู่ในกรอบ 80.5-81.5% ต่อจีดีพี (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3654)

คะแนนเฉลี่ย

หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2559 ปรับลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน มาที่ระดับ 81.0% ต่อจีดีพี เทียบกับ 81.3% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2559 โดยการปรับลดลงดังกล่าว คาดว่าเป็นผลของการเติบโตที่ชะลอลงในสินเชื่อรายย่อยหลายประเภท อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนแล้ว จะพบว่า แม้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 9.81 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับว่าการเติบโตของหนี้ยังคงชะลอลงอย่างต่อเนื่องมาที่ระดับ 4.1% YoY (ซึ่งต่ำที่สุดในข้อมูลรายไตรมาสที่สามารถเก็บย้อนกลับไปได้ถึงปี 2547) สำหรับหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 2559 คาดพลิกกลับมาขยับขึ้นสู่ระดับ 81.5% ต่อจีดีพี แต่ยังถือเป็นระดับที่ต่ำลงจากสิ้นปี 2558 ซึ่งย้ำภาพการชะลอความร้อนแรงลงจากอดีตและช่วยลดทอนความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมลงไปได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนแนวโน้มปี 2560 ทรงตัวหรือขยับลดลงมาที่กรอบคาดการณ์ 80.5-81.5% (บนสมมติฐานจีดีพีขยายตัว 3.3%) แม้อาจเห็นอัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาที่กรอบ 4.0-5.0% จากสิ้นปี 2559 ที่น่าจะเติบโตได้ 3.6% แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีหน้าอาจต่ำลง โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ที่จะมีผลต่อมูลค่าจีดีพีซึ่งเป็นตัวหารของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี) ที่คาดหวังว่า จะได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่จะมีบทบาทต่อการเติบโตของหนี้ครัวเรือน ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยสถาบันการเงินที่จะเป็นแกนหลักในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนในปี 2560 นั้นคงยังหนีไม่พ้นธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสหกรณ์ออมทรัพย์ ส่วนนอนแบงก์จะกลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้นหลังหดตัวมานาน 2 ปีติดต่อกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย