Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 มีนาคม 2560

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนปี 2559 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี มาที่ระดับ 79.9% ต่อจีดีพี...คาดชะลอลงต่อเนื่องในปี 2560 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3672)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 2559 สะท้อนภาพการชะลอความร้อนแรงลงจากปีก่อน เนื่องจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปรับตัวลงราว 1.3% จากปี 2558 มาที่ระดับ 79.9% ต่อจีดีพี (ปี 2558 อยู่ที่ระดับ 81.2%) อันเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนที่เติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าการขยายตัวของจีดีพี ตามหลายปัจจัยกดดัน อันได้แก่ 1) การหดตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ปล่อยโดยกลุ่มนอนแบงก์ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งทำให้หนี้ครัวเรือนปรับลดลงถึง 0.6% ต่อจีดีพี 2) การปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังตามนโยบายเครดิตที่เข้มงวดขึ้นของสถาบันการเงินส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อผนวกกับปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้ว ก็กดดันให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโตชะลอลงโดยพร้อมเพรียง อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปรับลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี จะช่วยบรรเทาความกังวลต่อปัญหาหนี้สะสมของครัวเรือนและเสถียรภาพของระบบการเงินลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 3.75 แสนล้านบาทจากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นยอดคงค้างที่ระดับ 11.47 ล้านล้านบาท (เติบโต 3.4% เทียบกับปี 2558) บ่งชี้ว่า ภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งก็ยังคงเป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาวของเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดกรอบคาดการณ์ลงมาที่ระดับ 78.5 – 80.0% ต่อจีดีพี (บนสมมติฐานจีดีพีปี 2560 ขยายตัว 3.3%) เทียบกับกรอบประมาณการเดิมที่ 80.5 – 81.5% โดยยังคงมุมมองเดิมว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีโอกาสขยับลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งการปรับลดประมาณการลงดังกล่าว สะท้อนผลของ 1) หนี้ครัวเรือนในปี 2559 ที่ชะลอลงมากกว่าประมาณการเดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทย 2) อานิสงส์จากผลของฐานจีดีพี (ณ ราคาปัจจุบัน) ที่ขยายตัวสูงกว่าหนี้ครัวเรือนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และ 3) การชะลอตัวต่อเนื่องของสินเชื่อในกลุ่มนอนแบงก์ และสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ยังคงเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1) ความต่อเนื่องในเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 2) การเปลี่ยนแปลงของรายได้ครัวเรือน และ 3) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศที่แม้จะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่โอกาสการปรับเพิ่มคงมากขึ้นในปีต่อไป ซึ่งจะกระทบต่อการบริหารจัดการภาระหนี้ของครัวเรือนที่อาจปรับเพิ่มในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย